ทีเอ็มบีกำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองเพิ่มขึ้น 53% ในครึ่งแรกของปี 2556 หลังจากเสริมความแข็งแกร่งด้วยการตั้งสำรองป้องกันความเสี่ยงจากวัฎจักรเศรษฐกิจ มีกำไรสุทธิเป็น 2,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน
ทีเอ็มบี หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ประกาศผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 2 และงวดผลประกอบการครึ่งปี 2556 ซึ่งธนาคารและบริษัทย่อยมีผลกำไรจากการดำเนินงานหลักก่อนสำรอง จำนวน 7,137 ล้านบาทสำหรับงวด 6 เดือน ซึ่งเพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิเพิ่มร้อยละ 36.7% ส่วนต่างดอกเบี้ยรับ (Net Interest Margin – NIM) เพิ่มเป็น 2.97%
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า “ใน 6 เดือนแรกของปี 2556 นี้ ธนาคารมีผลการดำเนินงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากการให้ความสำคัญกับการให้บริการลูกค้าที่ดีขึ้น และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการธุรกรรมการเงิน (Transactional Banking) ซึ่งตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกค้า ลูกค้าจึงไว้วางใจใช้บริการอย่างต่อเนื่องหลายผลิตภัณฑ์ ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยรับ (Net Interest Margin – NIM) เพิ่มเป็น 2.97% จาก 2.59% ในปี 2555 และรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 20.5% ในขณะเดียวกัน รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิเพิ่มขึ้น 36.7% เมื่อเทียบปีก่อน ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานโดยรวมเพิ่มขึ้น 23.5% ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารยังได้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเพียง 4.0% ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรอง มีจำนวน จำนวน 7,137 ล้านบาท เพิ่มจากงวดเดียวกันของปีที่แล้ว 53%”
พร้อมกันนี้ จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวทางให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มอัตราส่วนสำรองของสินเชื่อคุณภาพเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากวัฎจักรเศรษฐกิจ (Countercyclical Cushion) เพื่อเป็นการเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มความมีเสถียรภาพของธนาคารพาณิชย์ไทย ทีเอ็มบีได้ตั้งสำรองพิเศษจำนวน 4,143 ล้านบาทสำหรับสินเชื่อคุณภาพ ทำให้สำรองของครึ่งปีแรกทั้งหมดคิดเป็นจำนวน 4,676 ล้านบาท หลังตั้งสำรองแล้ว ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิในงวด 6 เดือนแรกของปีจำนวน 2,068 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ขณะเดียวกัน คุณภาพของสินเชื่อรวมของธนาคารดีขึ้น ซึ่งใน 6 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารมีสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 2.5% โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ 22% ทั้งนี้ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL ratio) ลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 3.7% สำหรับงบเฉพาะธนาคารและ 4.0% สำหรับงบการเงินรวม การตั้งสำรองพิเศษส่วนเกินในครั้งนี้จึงส่งผลให้สัดส่วนสำรองรวมต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) ของธนาคารและบริษัทย่อยเพิ่มขึ้นจาก 113% เป็น 132%
ส่วนปริมาณเงินฝากลดลงประมาณ 3.6% ซึ่งเป็นการลดลงของเงินฝากขนาดใหญ่ ขณะที่สัดส่วนเงินฝากรายย่อยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 68% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน
ขณะเดียวกัน ธนาคารยังคงดำรงสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีระดับความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ภายใต้เกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 16.9% ซึ่งเป็นกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1) ในสัดส่วน 11.3%
ข่าวเด่น