หลังจากประสบความสำเร็จกับการดำเนินธุรกิจต้นน้ำ ในด้านของการผลิตอาหารประเภทต่างๆจำหน่ายจนมียอดขายหลายแสนล้านบาท วันนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จึงขอออกมาบุกธุรกิจปลายน้ำอย่างธุรกิจค้าปลีกอย่างจริงจังอีกครั้ง
เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ซีพีเอฟ ได้ออกมาเปิดตัว "ร้านซีพีเฟรชมาร์ท" เพื่อเสริมความครบวงจรให้กับธุรกิจในเครือ ซึ่งหลังจากเปิดตัวร้านดังกล่าว ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ และเพื่อให้ธุรกิจค้าปลีกเข้าถึงตัวผู้บริโภคมากขึ้น ซีพีเอฟ จึงตัดสินใจย่อขนาดของธุรกิจร้านซีพีเฟรชมาร์ท ด้วยการแตกตู้เย็นชุมชนเข้ามาทำตลาด ผ่านช่องทางร้านโชว์ห่วยในชุมชนต่างๆ และใต้ถุนหอพัก อพาร์ทเม้นท์ และคอนโดมิเนียม
ล่าสุดเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวธุรกิจร้านค้าปลีกน้องใหม่ภายใต้ชื่อ "ซีพีฟู้ดมาร์เก็ต" เข้าทำตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าหนุ่มสาวออฟฟิศ ด้วยการนำร้านดังกล่าวไปเปิดให้บริการที่อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ 3 (พญาไท) เป็นสาขาแรก ตามด้วยสาขาฟอร์จูนทาวเวอร์ ตามด้วยสาขาปั้มน้ำมันเชลล์ วังน้อย ศูนย์การค้าธัญญะ ช้อปปิ้ง พาร์ค และคอมมูนิตี้มอลล์เซเลเบรท บดินทร์เดชา
จากการวางตำแหน่งของร้านซีพีฟู้ดมาร์เก็ตที่ยังไม่ชัดเจน ส่งผลให้รูปแบบของการทำตลาดมีความใกล้เคียงกับร้านซีพีเฟรชมาร์ทเป็นอย่างมาก ประกอบกับกลยุทธในการทำตลาดโดยเฉพาะด้านการสื่อสารกับผู้บริโภคที่มีน้อยไป จึงทำให้ร้านซีพีฟู้ดมาร์เก็ต จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ด้วยเหตุนี้ ซีพีเอฟ จึงต้องปรับแผนการทำตลาดใหม่ ด้วยการปรับแบรนด์ ร้านซีพีฟู้ดมาร์เก็ต เป็น “ร้านซีพี เฟรชมาร์ท พลัส" เพื่อให้ผู้บริโภคง่ายต่อการจดจำแบรนด์ และสร้างความชัดเจนในด้านของการทำตลาดมากขึ้น โดยในส่วนของแบรนด์ซีพี เฟรชมาร์ท พลัส จะเป็นร้านค้าปลีกในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต ขณะที่ ร้านซีพีเฟรชมาร์ทจะเป็นในรูปแบบร้านสะดวกซื้อ และตู้เย็นชุมชุนจะเป็นร้านขนาดเล็กที่ทำตลาดควบคู่ไปกับร้านโชว์ห่วยในชุมชนต่างๆ
นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังต้องตัดใจปิดร้านในส่วนของสาขาที่ไม่ประสบความสำเร็จในแต่ละแบรนด์ เพื่อลดการขาดทุนสะสม โดยในส่วนของแบรนด์ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ปิดให้บริการไปแล้วประมาณ 60-70 สาขา ขณะที่ตู้เย็นชุมชนปิดให้บริการไปประมาณ 1,000 จุด ส่วนร้านซีพี เฟรชมาร์ท พลัส อยู่ระหว่างการปรับแผนการตลาดโดยเฉพาะ 2 สาขาที่มียอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย คือ ศูนย์การค้าธัญญะ ช้อปปิ้ง พาร์ค และศูนย์การค้าเซเลเบรท บดินทร์เดชา
นายชัยยุทธ ทิพย์สุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้ดูแลธุรกิจ ซีพี เฟรชมาร์ท บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การที่บริษัทต้องปิดร้านค้าปลีกในแต่ละแบรนด์ไปบางส่วนก็เพื่อ “ถอยเพื่อรุก” เพราะถ้ายังดันทุรังจะยิ่งทำให้ขาดทุน ซึ่งในส่วนของร้าน ซีพี เฟรชมาร์ท พลัส ปีนี้บริษัทยังไม่มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่ม เนื่องจากต้องการปรับแผนการตลาดใหม่ เพื่อให้ทั้ง 5 สาขาที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันมียอดขายเติบโตที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม แผนการดำเนินธุรกิจค้าปลีกของ ซีพีเอฟ นับจากนี้ นายชัยยุทธกล่าวว่า ยังคงยึด 3 โมเดลนี้ในการขยายธุรกิจร้านค้าปลีก โดยขณะนี้ได้วางแผนการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 4 ปีไว้แล้ว เริ่มจากปี 2556-2559 ซึ่งทุกแบรนด์จะต้องเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด จากปัจจุบันสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้แล้วทุกจังหวัด ดังนั้นแผนการดำเนินงานนับจากนี้วางเป้าหมายไว้ว่าจะต้องขยายร้านของทั้ง 3 แบรนด์ ให้เข้าถึงผู้บริโภคครบทุกอำเภอในประเทศไทย
สำหรับงบประมาณที่ ซีพีเอฟ ได้เตรียมไว้ กับการลงทุนขยายธุรกิจใน 4 ปีนับจากนี้ มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของร้านซีพี เฟรชมาร์ท พลัส ปีนี้ไม่มีแผนขยายสาขาเพิ่ม แต่ปี 2557 -2559 มีแผนที่จะขยายร้านใหม่เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 10-15 สาขา เพื่อให้จบปี 2559 มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการครบ 50 สาขาทั่วประเทศ โดยในแต่ละสาขาคาดว่าจะใช้งบลงทุนเฉลี่ยที่ประมาณ 15-18 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของงบลงทุนดังกล่าวถือว่าปรับลดจากเดิมที่เคยใช้อยู่ที่สาขาละประมาณ 20-25 ล้านบาท เนื่องจากซีพีเอฟต้องการปรับลดเม็ดเงินในการลงทุน เพื่อให้สามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น เพราะงบลงทุนเดิมที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผลกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
ในส่วนของร้านซีพี เฟรชมาร์ท ปีนี้ ซีพีเอฟ มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นประมาณ 80 สาขา ขณะที่ปี 2557-2559 มีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 300-350 สาขา ซึ่งแต่ละสาขาคาดว่าจะใช้งบลงทุนเฉลี่ยที่ประมาณ 1.2-1.5 ล้านบาท ซึ่งหลังจากจบปี 2559 คาดว่าจะมีร้านซีพีเฟรชมาร์ท เปิดให้บริการไม่ต่ำกว่า 1,700 สาขา จากปัจจุบันมีจำนวนสาขาอยู่ที่ 620 สาขา และเพิ่มเป็น 700 สาขาในสิ้นปีนี้
ส่วนแผนการขยายสาขาตู้เย็นชุมชน ปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 10,000 ตู้ คาดว่าสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 15,000 -16,000 ตู้ ซึ่งช่องทางหลักในการเข้าไปขยายสาขายังคงเน้นไปที่ร้านโชห่วยตามแหล่งชุมชนต่างๆ โดยในแต่ละปีนับตั้งแต่ปี 2556-2559 ซีพีเอฟคาดว่าจะขยายตู้เย็นชุมชนเข้าไปตามร้านโชห่วยต่างๆ ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 15,000 ตู้ ซึ่งจากแผนการดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลให้สิ้นปี 2559 ซีพีเอฟจะมีตู้เย็นชุมชนขยายไปในชุมชนต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 50,000 ตู้
ปัจจัยที่ทำให้ ซีพีเอฟ เปิดตัวตู้เย็นชุมชนเข้ามาทำตลาดเจาะร้านโชห่วย คือ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น สังเกตได้จากการมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาด ขณะที่ผู้เล่นรายเก่าในตลาดก็เร่งปรับตัวหันมาปรับปรุงร้านเก่าและเปิดตัวร้านใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นอย่างตอ่เนื่อง ซึ่งเหตุปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เจ้าของร้านโชห่วยต้องปรับตัวตาม และกลยุทธที่จะทำให้ร้านโชห่วยอยู่ได้ คือ การเพิ่มความหลากหลายของสินค้า ซึ่งสินค้าอาหารแช่แข็ง และอาหารพร้อมปรุง ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของร้านโชห่วยในการเพิ่มความหลากหลายในสินค้า
นอกจากการขยายสาขาร้านใหม่ของทั้ง 3 โมเดลค้าปลีกแล้ว ซีพีเอฟยังมีแผนที่จะเพิ่มความหลากหลายของสินค้าภายในร้าน เนื่องจากปัจจุบันสินค้าในเครือของซีพีเอฟส่วนใหญ่เป็นสินค้าพร้อมปรุงและพร้อมรับประทานประเภทเนื้อสัตว์ เพื่อให้สินค้ามีความหลากหลายและครบความต้องการของผู้บริโภค จึงมีแผนที่จะเพิ่มกลุ่มสินค้านอนซีพี ในแบรนด์อื่นๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องปรุง เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการสามารถนำสินค้าไปปรุงอาหารได้ทันที
หลังจากออกมาปรับแผนการทำตลาดครั้งใหญ่ยาวไปจนถึงปี 2559 ซีพีเอฟ วางเป้าหมายไว้ว่าภายในสิ้นปี 2559 น่าจะมีรายได้จากดำเนินธุรกิจค้าปลีกทั้ง 3 โมเดล ไม่ต่ำกว่า 20,000-23,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากร้านซีพี เฟรชมาร์ท พลัส 3,000 ล้านบาท ร้านซีพี เฟรชมาร์ท 1.3 หมื่นล้านบาท และ ตู้เย็นชุมชน 7,000 ล้านบาท
ส่วนภาพรวมรายได้สิ้นปีนี้ ซีพีเอฟคาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 8,000-8,500 ล้านบาท เติบโต 32% เมื่อเทียบกับปี 2555 ซึ่งถือเป็นการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่าภาพรวมรายได้ในครึ่งปีแรกจะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เพราะอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ
ข่าวเด่น