จากภาระหนี้สินของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และรายได้บางส่วนถูกแบ่งจ่ายไปกับการซื้อรถยนต์คันแรก ประกอบกับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย จึงทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเพียง 9% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 12%
กลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการชะลอกำลังซื้อของผู้บริโภค คือ ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเพียง 7% เท่านั้น กลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตลดลงตามมา คือ ดีพาร์ทเม้นสโตร์ มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 7.5% และซูเปอร์มาร์เก็ต มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 8%
ส่วนกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีก คือ คอนวีเนี่ยนสโตร์ หรือร้านสะดวกซื้อมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 12% แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาก็ยังเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลง 6% เพราะปีที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจคอนวีเนี่ยนสโตร์มีอัตราการเติบโตสูงถึง 18% เนื่องจากตลาดร้านสะดวกซื้อมีการแข่งขันกันรุนแรง
อีกหนึ่งธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงกว่าภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีก คือ สเปเชียลตี้สโตร์ หรือร้านค้าเพื่อสุขภาพและความงาม โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 11.5% แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาก็ยังถือว่าปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา 6.5% เนื่องจากปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตที่ 18%
น.ส.บุษบา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในต้นปีที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานต่างมีการประเมินว่า GDP ทั้งปีน่าจะมีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 5.5-6% เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีแนวโน้มที่ดี ซึ่งในส่วนของภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งเอง ก็มีการคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10-12% เนื่องจากภาครัฐมีการออกมาประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินที่สูงกว่า 5-6 แสนล้านบาท แต่จากการที่เม็ดเงินดังกล่าวยังไม่ไหลกลับสู่ระบบเศรษฐกิจ จึงทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งในครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ 3-4%
จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยมีการออกมาแสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลควรมีมาตรการเสริมออกมาดูแลเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน (อัตราดอกเบี้ย ) และ มาตรการทางการคลัง ( การลดหย่อนภาษี ) มากระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง เพื่อให้กำลังซื้อของผู้บริโภคฟื้นกลับมา
การที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยออกมาเสนอแนวความคิดดังกล่าว เพราะว่ายังมองว่าภาพรวมในครึ่งปีหลัง สภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังมีทิศทางชะลอตัว เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังมีตัวเลขสูงขึ้น หากภาครัฐเข้ามาช่วยกระตุ้นน่าจะช่วยให้กำลังซื้อของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากภาพรวมของบางอุตสาหกรรมยังมีอัตราการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวในทิศทางที่ดี สังเกตได้จากตัวเลขของนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 12 ล้านคน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับข้อเสนอมาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่ง ที่ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยอยากจะนำเสนอต่อภาครัฐ เพื่อให้ให้ช่วยเข้ามาดูแลมีด้วยกัน 9 ข้อ ประกอบด้วย
1.รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการตรึงราคาสินค้าที่จำเป็น นับตั้งแต่ หมวดอาหาร ค่าโดยสาร ค่าเชื้อเพลิง
2.รัฐบาลควรให้การสนับสนุนการขยายตัวของภาคค้าปลีกอย่างชัดเจน เนื่องจากภาคค้าปลีกเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แม้มีความเข้มแข็งด้วยการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง แต่หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมจะทำให้ขยายตัวทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศได้เป็นอย่างมาก
3.อยากให้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนผู้ค้าปลีกไทยไปลงทุนในอาเชี่ยนอย่างชัดเจน เพราะ การที่ผู้ค้าปลีกไทยสามารถไปขยายธุรกิจในอาเชี่ยน นั่นหมายถึง จะมีผู้ประกอบซัพพลายเออร์ตามไปขยายธุรกิจด้วยเป็นพันๆราย
4.รัฐบาลกำหนดให้ BOI เป็นศูนย์กลางประสานการลงทุนในอาเชี่ยน มีการเจรจาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) เพื่อสนับสนุนภาคค้าปลีกในการบุกตลาด AEC ในลักษณะ one stop service แบบ JETRO ของญี่ปุ่น
5.รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนอย่างชัดเจน โดยพิจารณาผ่อนผันการเปิดด่านต่างๆ เพิ่มด่านและอำนวยความสะดวก
6.รัฐต้องหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศในการจับจ่ายและการลงทุน
7.โครงการบริหารจัดการน้ำ วงเงิน 350,000 ล้านบาท หากได้รับการอนุมัติวงเงินโดยเร็ว จะส่งผลให้เงินเข้าสู่ระบบให้เสร็จโดยเร็ว
8. รัฐบาลควรเปิดช่องให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs Bank) เข้ามาช่วยดูแลกลุ่มธุรกิจ SME ในลักษณะ Fast Track เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
9. มาตรการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศกว่า 26 ล้านคน ทางสมาคมจึงขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้า Luxury Brand (Apparel, leather and footwear, Costmetic and Fragrance ) ลงมาในระดับ 0-5% เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น และจูงใจให้นักช้อปปิ้งไทยจับจ่ายภายในประเทศแทนที่จะนำเงินตราไปใช้จ่ายยังต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากรายงานของ Global Blue พบว่า คนไทยขนเงินออกไปจับจ่ายสินค้าปลอดภาษี( Duty Free) ในภาคพื้นยุโรป เพิ่มสูงขึ้นถึง 56% ส่งผลให้นักช้อปชาวไทยติดอยู่ใน 6 อันดับแรก รองมาจากนักช้อปชาว จีน รัสเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น อเมริกา
จากปัญหาและปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ในด้านของภาคผู้ประกอบการค้าปลีกเองก็ได้มีการจับมือร่วมกันเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายและบรรยากาศการจับจ่าย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ ผู้ประกอบการต่างมีแผนที่จะเพิ่มแคมเปญส่งเสริมการขายให้มากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากยังคงมีความกังวลปัจจัยลบในหลายด้าน
ปัจจัยที่มีความกังวลกันมากที่สุด คือ หนี้ครัวเรือน เพราะปัจจุบันผู้บริโภคยังคงมีการตัดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้ค่าใช้จ่ายเหมาะสมกับรายรับที่เข้ามาในครัวเรือน
จากปัจจัยลบที่ยังต้องจับตามอง สิ้นปีภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกจะมีอัตราการเติบโตถึงเป้าหมาย 12% หรือไม่ คงต้องลุ้นกันหืดขึ้นคอ
ข่าวเด่น