แบงก์-นอนแบงก์
แกะรอยจุดแข็ง "ประกันชีวิตไทย" เปิดตลาดเสรีไม่หวั่นคู่แข่งอาเซียน



 
แม้ประเด็นเรื่องการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่จะมีขึ้นในปี 2558 จะถูกพูดถึงกันมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว โดยเฉพาะกับภาคธุรกิจการเงินที่พยายามปรับตัวเชิงรุกเข้าหาโอกาสใหม่ๆ ควบคู่ไปกับตั้งรับอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงธุรกิจประกันชีวิตที่วางตัวให้ “สมาคมประกันชีวิตไทย” เป็นแกนกลางศึกษาและประสานกับบริษัทสมาชิกเพื่อเตรียมพร้อมรับมือส่วนนี้
 
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้พยายามศึกษาเปรียบเทียบในเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคของการแข่งขันในตลาดประกันชีวิต โดยว่าจ้างให้ บริษัท สำนักงานเอินส์ท แอนด์ ยัง จำกัด ได้ศึกษาเชิงลึกในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งมีระดับการพัฒนาของธุรกิจประกันชีวิตใกล้เคียงและนำหน้าไทย
 
ผลที่ได้ในเบื้องต้นนั้น นายสาระกล่าวว่า ธุรกิจประกันชีวิตไทยถือว่ามีความได้เปรียบในด้านสินค้าประเภทพื้นฐาน (Traditional Product) ทั้งประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และแบบชั่วเวลา ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการขายในไทยอยู่ค่อนข้างมาก รวมถึงสินค้าประเภทสะสมทรัพย์ ก็ถือว่าธุรกิจประกันชีวิตไทยมีความถนัดเช่นกัน ขณะที่บางประเทศที่พัฒนามากแล้ว ตลาดจะเริ่มขยับไปสู่สินค้าประกันชีวิตกึ่งลงทุนมากขึ้นแล้ว
 
เช่นเดียวกับสัญญาเพิ่มเติมต่างๆ ที่เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ธุรกิจประกันชีวิตไทยเชี่ยวชาญเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัทมีสัญญาเพิ่มเติมทั้งความคุ้มครองอุบัติเหตุ สุขภาพ โรคร้ายแรง และชดเชยรายได้ ขายควบเข้าไปกับสัญญาหลักอยู่แล้ว
 
นอกจากสินค้าที่โดดเด่นแล้ว ไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญก็คือ บริการด้าน “รักษาพยาบาล” ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ในระดับที่จะเป็น Medical Hub ของอาเซียนได้อีกด้วย ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญกับการรองรับการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตด้วย เพราะสามารถเชื่อมต่อไปยังระบบการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลที่ดีได้ จึงตอกย้ำให้จุดแข็งของธุรกิจประกันชีวิตไทยยิ่งโดดเด่นมากขึ้น
 
สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งสำหรับประกันชีวิตก็คือ “บริการ” ที่พบว่า โดยลักษณะนิสัยคนไทยจะได้เปรียบกับธุรกิจด้านบริการ เพราะมีบุคลิกที่เป็นมิตร พร้อมให้บริการอยู่แล้ว ยิ่งมาอยู่ในกลุ่มประกันชีวิตที่เป็นหนึ่งในภาคบริการทางการเงินแล้วก็ถือเป็นความได้เปรียบ ซึ่งสาระอธิบายว่า หลังจากนี้น่าจะได้เห็นบรรดาบริษัทประกันต่างๆ ต้องเร่งพัฒนาเรื่องระบบบริการของตนเองให้มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสาขา เพื่ออำนวยความสะดวกและรองรับลูกค้า บุคลากรที่ต้องมีความรู้และจิตใจพร้อมให้บริการ รวมไปถึงระบบสนับสนุนทางเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้บริการมีความรวดเร็วและเสถียรมากขึ้น
 
“ข้อสรุปเหล่านี้เป็นผลในเบื้องต้นจากการศึกษาดังกล่าว แต่ข้อมูลในรายละเอียดเชิงลึกก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมอยู่ หลังจากนั้นทางสมาคมฯ ก็จะแจกจ่ายให้แก่บริษัทสมาชิกเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับเตรียมการวางแผนปรับตัวของแต่ละบริษัทกันต่อไป ขณะเดียวกัน ประเด็นบางด้านที่อาจจะเป็นข้อจำกัด หรือข้อติดขัด สมาคมฯ ก็ต้องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดข้อจำกัดตรงนี้ลงไป หรือจะสนับสนุนกันได้อย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องผลิตภัณฑ์บางรายการ เรื่องกฎหมาย เรื่องการลงทุน เป็นต้น”
 
แต่โดยสรุปแล้ว “ประกันชีวิตไทย” ก็เรียกได้ว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่ “ค่อนข้างพร้อม” หลังจากเตรียมตัวรองรับกับประเด็นนี้มากเกือบ 10 ปีแล้ว

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ส.ค. 2556 เวลา : 13:56:53
27-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 27, 2024, 11:06 pm