กสิกรไทยชักธงรบลุยตลาดรายย่อย ไม่หวั่นเศรษฐกิจแผ่ว มั่นใจแรงซื้อกลุ่มกลาง-บนยังแข็งแกร่ง ลุยตลาดรายได้เกิน 15,000 บาท ชูดิจิตอลแบงกิ้งบุกหนัก จับเทรนด์ตลาดยุคใหม่
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางตลาดธุรกิจลูกค้าบุคคลของธนาคารในครึ่งปีหลังน่าจะสามารถเติบโตได้ดี แม้จะมีปัจจัยความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจและปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงก็ตาม แต่ฐานลูกค้าหลักของธนาคารนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ซึ่งมีแรงต้านทานกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจได้สูงกว่ากลุ่มที่รายได้ต่ำกว่าระดับดังกล่าว
“ในภาพรวมของปีนี้เราก็ตั้งเป้าหมายเติบโตสินเชื่อในธุรกิจรายย่อยเพียง 10-13% ซึ่งคิดเป็น 2.5% ของอัตราเติบโตของจีดีพี ถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ขณะที่แหล่งสร้างรายได้ส่วนใหญ่จะเติบโตจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่ปีนี้ตั้งเป้าหมายเติบโตไว้ถึง 26-29% จึงมองว่าธุรกิจไม่น่าจะถูกกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ”
ทั้งนี้ ผลงานในช่วง 6 เดือนแรกถือว่าทำได้เกินกว่าเป้าหมาย โดยสามารถสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิได้ถึง 11,500 ล้านบาท เติบโตสูงถึง 32% จากเป้าหมายอัตราเติบโตที่ปีนี้ตั้งไว้ 26-29% โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ค่าธรรมเนียมได้ดีคือ ประกันชีวิตที่มีรายได้เติบโตถึง 36% บัตรเครดิตและร้านค้ารับบัตรเติบโต 29% และบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเติบโต 15%
สำหรับกลยุทธ์การรุกตลาดในครึ่งปีหลัง นายปกรณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้พยายามพัฒนารูปแบบด้านบริการให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบริการด้านดิจิตอลที่สอดคล้องไปกับพฤติกรรมและความสนใจของกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ๆ และในครึ่งปีหลังก็จะเน้นสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าในการใช้งานผ่านช่องทางดิจิตอลแบงกิ้ง
ภายใต้กลยุทธ์นี้ ในครึ่งปีหลังธนาคารมีแผนจะออก K-Mobile Banking Plus ซึ่งเป็นแอพลิเคชั่นสำหรับธุรกรรมการเงินเวอร์ชั่นใหม่ที่จับมือกับธุรกิจด้านโซเชียลมีเดียระดับโลกมาร่วมกันพัฒนาแอพลิเคชั่นนี้ รวมถึงพัฒนารูปแบบสาขาในพื้นที่นำร่อง 100 แห่ง ให้เป็นไลฟ์สไตล์สเปซอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งบริการไวไฟในสาขา สื่อประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแบบดิจิตอล และเครื่องมือที่เรียกว่า "ดิจิตอล โปรโมชั่น สแตนด์" ซึ่งเป็นเครื่องมือบริการด้านข้อมูลบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของธนาคาร เมื่อลูกค้าค้นหาข้อมูลได้แล้ว สามารถเลือกดาวน์โหลดให้มาเก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ในฝั่งบริการด้านบัตรเครดิต ธนาคารได้จัดโครงการ K-PowerP@y ซึ่งความร่วมมือกับร้านค้าต่างๆ เพื่อให้บริการรับชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตได้สะดวกยิ่งขึ้นผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งได้เริ่มนำร่องกับร้านค้าไปแล้วกว่า 2,000 แห่ง และตั้งเป้าหมายปีนี้จะขยายจุดรับบัตรในโครงการ K-PowerP@y ไม่น้อยกว่า 20,000 แห่ง เน้นร้านค้าขนาดเล็ก ยอดธุรกรรมอาจไม่สูงมาก และธุรกิจที่ต้องมีบริการส่งถึงบ้าน ซึ่งจะเข้ามาเสริมกับการให้บริการเครื่องรูดบัตรเครดิตที่มีอยู่เดิมแล้ว
“ปีนี้เราให้ความสำคัญกับการพัฒนางานต่างๆ เพื่อสร้าง “ประสบการณ์” การใช้งานผ่านระบบดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ ของลูกค้า เพราะทุกวันนี้พฤติกรรมและไลฟ์ไสตล์ลูกค้าขยับมาใช้บริการในช่องทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันช่องทางสาขาเราก็ยังคงเปิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการในวงกว้างควบคู่กันไป โดยตั้งเป้าหมายเปิดสาขาอีกกว่า 80 แห่งในปีนี้ด้วย”นายปกรณ์กล่าว
ข่าวเด่น