กสอ. เผย เครือข่าย SMEs ช่วยผู้ประกอบการ ลดต้นทุน สร้างตลาดใหม่ เพิ่มอำนาจการต่อรองได้ 100% พร้อมปี 58 รุดหน้าเพิ่มสมาชิกนำร่อง ปี 57 อีกกว่า 100 กิจการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุสาหกรรม เผยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ SMEs ไทยในปี 58 ผ่านโครงการ DIP SMEs Network Forum กลยุทธ์สร้างเครือข่ายทางธุรกิจแก่ SMEs เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อผนึกกำลังสร้างความแข็งแกร่งใน 5 ด้าน ได้แก่ การซื้อและขายสินค้าภายในกลุ่มเครือข่าย การช่วยพัฒนาการผลิตเพื่อลดต้นทุน การศึกษาดูงานระหว่างกลุ่มเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน การประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรในเครือข่ายกับภาครัฐ เพื่อสร้างการช่วยเหลือที่ทันถ่วงที การสร้างเครือข่ายเพื่อจับคู่การเจรจาการค้ากับคู่ค้าในต่างประเทศ การสร้างเสถียรภาพแบบบูรณาการเพื่อให้สามารถพร้อมรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยปัจจุบันมีสมาชิกในเครือข่ายกว่า 100 บริษัท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นกว่า 100% ในปี 2557
นอกจากนี้ กสอ.ยังจัดงาน “Industrial Forum” เพื่อเป็นเวทีสำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมาร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย การสัมมนาพิเศษในหลากหลายหัวข้อ อาทิ ผู้นำ : การคิดเชิงกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤติ กลยุทธ์การปรับตัวของ SMEs ไทยภายใต้เศรษฐกิจโลกถดถอย ตลาดเปลี่ยนธุรกิจเปลี่ยน ฯลฯ พร้อมทั้งยังมีคลินิกที่จะคอยให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการ โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มคลินิก รวมถึงการจัดแสดงสินค้าโชว์ความสำเร็จของผู้ประกอบการจำนวนมาก และคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย
นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจและการค้าการลงทุนในประเทศกำลังก้าวเข้าสู่การแข่งขันเสรีมากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีจำนวนกว่า 2,700,000 ราย ต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในตลาดโลก จากการทำการตลาดแบบเดิมสู่การตลาดในเชิงกลยุทธ์ต้องมีการวางแผน ตลอดจนการวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดเพื่อหาจุดแข็งจุดอ่อนขององค์กร ซึ่งทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักที่ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการผ่านโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. รวมถึงโครงการ DIP SMEs Network Forum เป็นหนึ่งในโครงการที่มีแนวคิดในการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจแก่ SMEs เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกิจการในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านการตลาด นวัตกรรมการผลิต ระบบการจัดการบุคลากร ฯลฯ ระหว่างองค์กรในภาคธุรกิจด้วยกันเอง ตลอดจนเป็นเวทีในการเปิดการค้าและการเจรจาทางธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการสามารถกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดรับกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น อันจะสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรให้สามารถผนึกกำลัง สร้างความเข้มแข็งแก่ SMEs ไทย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน รวมถึงสร้างอำนาจต่อรองให้กับอุตสาหกรรม SMEs ไทย ในเวทีโลก โดยในปี 2556 โครงการ DIP SMEs Network Forum มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 140 กิจการ และในปี 2557 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 100 ราย นายโสภณ กล่าว
ด้าน นายพรชัย รัตนตรัยภพ ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการ “DIP SMEs Network” กล่าวว่า ในปี 2554 เกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และผลกระทบ AEC ทำให้เกิดการรวมตัวกัน ของกลุ่มผู้ประกอบการจากการสนับสนุนและริเริ่มของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก่อตั้งโดยมีวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่น ที่จะเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งครอบคลุมทั่วประเทศมุ่งสู่การเป็นสภา SMEs ไทย โดย 5 หน้าที่หลักของเครือข่ายผู้ประกอบการ “DIP SMEs Network” ได้แก่
· 1.การซื้อและจำหน่ายสินค้าภายในกลุ่มเครือข่าย เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในลักษณะพึ่งพาอาศัยระหว่างกลุ่มการค้าเครือข่าย ซึ่งผู้ที่ซื้อสินค้าภายในกลุ่มจะได้รับส่วนลดในอัตราที่พิเศษ และผู้จำหน่าย จะได้ประโยชน์จากยอดสั่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น
· 2.การศึกษาดูงานระหว่างกลุ่มเครือข่าย เพื่อเป็นการถ่ายทอดให้แก่กลุ่มผู้ที่อยู่ในเครือข่ายได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันถึงแม้ว่าแต่ละประเภทของธุรกิจจะมีความแตกต่างกัน แต่หลักพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจนั้น มีความเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการทรัพยากรการตลาดนวัตกรรมการผลิต ฯลฯ ฉะนั้นจึงมีความสำคัญอย่างมากในการนำเอาหลักแนวคิดและวิธีการต่าง ๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารธุรกิจของตนเอง
· 3.เป็นตัวกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรในเครือข่ายกับภาครัฐ ซึ่งจะสร้างอำนาจในการต่อรองระหว่างผู้ประกอบการในเครือข่ายและรัฐบาลมากยิ่งขึ้น
· 4.การสร้างเครือข่ายเพื่อจับคู่ทางธุรกิจ โดยได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการในเครือข่าย เพื่อทำการจับคู่การเจรจาการค้ากับคู่ค้าในต่างประเทศ (Business Matching) ล่าสุดได้มีการจับคู่การเจรจาการค้าในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับ SMEs ในเครือข่ายและสร้างเม็ดเงินในธุรกิจการส่งออกได้อย่างมาก
· 5. สร้างเสถียรภาพผู้ประกอบการ SMEs ไทย โดยการเชื่อมโยงให้เครือข่ายให้มีการพัฒนาในแบบบูรณาการกับทุก ๆ ด้าน เพื่อให้สามารถพร้อมรับกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกว่า 140 ราย และตั้งเป้าปี 2557 จะมีผู้เข้าร่วมโครงการอีกกว่า 240 ราย
นายโสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังจัดงาน “Industrial Forum” ซึ่งเป็นงานที่บูรณาการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจในเชิงลึก ด้านการดำเนินงานตลาด การผลิต การพัฒนาบุคลากร การส่งเสริมการเงิน และพัฒนาเทคโนโลยี ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย อาทิ กิจกรรมการสัมมนาและบรรยายพิเศษ ในหลากหลายหัวข้อ อาทิ หัวข้อตลาดเปลี่ยนธุรกิจเปลี่ยน การคิดเชิงกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤติ การเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการด้านการเพิ่มผลิตภาพอย่างมีนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ฯลฯ กิจกรรมคลินิกอุตสาหกรรมที่ให้คำปรึกษาแนะนำในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะสามารถรักษาได้ในทุกอาการของธุรกิจ ตั้งแต่ปัญหาในขั้นตอนการเริ่มต้นทำธุรกิจไปจนถึงปัญหาสภาวะทางการเงิน ขั้นวิกฤติของอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสภาพการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนให้บริการข้อมูลของโครงการอื่น ๆ อีกกว่า 40 โครงการ อาทิ โครงการ NEC โครงการ EDIPP ฯลฯ โดยงานดังกล่าวคาดว่าจะมีผู้ประกอบการร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1,000 ราย
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตลอดจนลุ้นรับรางวัลมากมาย อาทิ มินิไอแพด , บัตรที่พักฟรี จำนวน 2 คืน , เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ในวันที่ 6-7 สิงหาคม 2556 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 16.00 น. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
ข่าวเด่น