ในเดือนสิงหาคมของทุกปี ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ร่วมกันรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องใน “สัปดาห์นมแม่โลก” (World Breastfeeding Week -WBW)) ซึ่งอยู่ระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีหลายหน่วยงานร่วมจัดกรรมดังกล่าวนี้ด้วย โดยในปีนี้มีคำขวัญว่า “Mother Support: Close to mother - รวมพลังช่วยเด็กไทยให้ได้กินนมแม่” เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมแม่ เนื่องจากข้อมูลในแต่ละปีพบว่า ไทยมีเด็กทารกแรกเกิดที่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวนมาก ทั้งทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่ป่วยต้องอยู่ในหออภิบาลทารก (NICU) ทารกที่ได้รับการผ่าตัดหรือเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสถูกแยกแม่-ลูก หรือถูกสั่งให้งดนมแม่ด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้ขาดโอกาสได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าและมีความสำคัญที่สุดในชีวิต
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมจัดกิจกรรมสัปดาห์นมแม่โลก โดยจัด “งานเสวนารวมพลังช่วยเด็กไทยให้ได้กินนมแม่ ตอน นมแม่สู้โรค” ณ สถาบันสุขภาพเด็กฯ ในโอกาสดังกล่าว พญ.วิลาวัลย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า “มีผลงานวิจัยมากมายที่แสดงเห็นถึงพลังของนมแม่ บ่งชี้ว่าน้ำนมแม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่าต่อสุขภาพของทารกที่กำลังเจ็บป่วย ดังนั้นนมแม่จึงเปรียบเสมือนการรักษา..ให้สู้กับโรคได้ โดยกรมการแพทย์มีนโยบายการสนับสนุนให้ทารกหรือเด็กเล็กที่เจ็บป่วยได้รับนมแม่ โดยการพัฒนาองค์ความรู้ในการให้นมแม่ในทารกที่มีปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคทางสมอง โรคทางพันธุกรรม ฯลฯ และในแม่ที่มีปัญหาสุขภาพ อาทิ แม่ป่วยหรือแม่ต้องได้รับการผ่าตัด ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีการดูแลส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำหรับเด็กป่วยและเด็กคลอดก่อนกำหนด จะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด และเมื่อแม่จะต้องพาลูกกลับบ้านจะช่วยให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ต่อเนื่องตามเป้าหมาย”
ด้านพญ. ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กฯเปิดเผยว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีบทบาทและหน้าที่ในการดูแลทารกที่เจ็บป่วยและทารกปกติในระดับตติยภูมิหรือสูงกว่า โดยหลายคนเข้าใจว่าทารกป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล อย่างเช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่ยังต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ทารกที่ต้องผ่าตัดรักษา เช่นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ไม่สามารถกินนมแม่ได้แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถให้ทารกได้กินนมแม่ได้ โดยใช้วิธีให้ความรู้ แนะนำให้คุณแม่รู้จักการบีบเก็บน้ำนมแม่มาให้ลูก จากนั้นพยาบาลจะเป็นผู้ให้นมทางสายยางสำหรับให้อาหาร หรือ ป้อนด้วยช้อนหรือแก้วแล้วแต่ความพร้อมของทารก
เมื่อทารกพร้อมจึงค่อยให้ดูดจากเต้ามารดา ทารกป่วยยิ่งต้องการนมแม่ หัวน้ำนมแม่ใน 2-3 แรกหลังคลอดมีความสำคัญและคุณค่ามากกับทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่ป่วย ช่วยให้เกิดภูมิต้านทานโรคมีผลต่อการพัฒนาของสมอง จอประสาทตาในทารกเกิดก่อนกำหนด การย่อย ดูดซึมง่าย ลดการเกิดอักเสบของลำไส้
นมแม่สามารถลดการติดเชื้อในเด็กป่วย นมแม่เป็นทั้งยาและภูมิคุ้มกัน และยังมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการด้านสมองรวมถึงระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของเด็กที่ป่วยหรือคลอดก่อนกำหนด และทำให้เด็กที่ป่วยออกจากโรงพยาบาลเร็วกว่าเด็กที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยนมแม่
แพทย์หญิงวราภรณ์ แสงทวีสิน หัวหน้าหน่วยทารกแรกเกิด สถาบันสุขภาพเด็กฯ กล่าวเสริมว่า “ทารกที่กิน “น้ำนมแม่” ยังได้รับภูมิต้านทานให้ห่างไกลจากโรคร้ายต่างๆ มากกว่าทารกที่กินนมผสมอีกด้วย อาทิ การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร มีโอกาสน้อยกว่าที่จะป่วยเป็นโรคท้องเสียในระยะขวบปีแรก เพราะในน้ำนมแม่มีสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเยื่อบุทางเดินอาหาร สามารถช่วยลดโอกาสการเกิดโรคผื่นภูมิแพ้ และลดโอกาสเป็นโรคหืดหอบ รวมทั้งลดปัญหาการเกิดโรคแพ้โปรตีนจากนมวัว
นอกจากนี้ ในน้ำนมแม่ยังมีสารอาหารที่จำเป็น อาทิ ดีเอซเอ (DHA) เอเอ (AA) นิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) ซีรีโบรไซด์ (Cerebroside) ฟอสโฟไลปิดส์ (Phospholipid) และโคเลสเตอรอล (Cholesterol) ที่มีช่วยเสริมสร้างเซลล์สมอง เส้นใยประสาท และจอประสาทตา
ผลดีของการเลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมแม่ยังเกิดขึ้นกับฝ่ายผู้เป็นแม่ด้วย โดยจะลดโอกาสในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) และลดการสึกกร่อนของกระดูก หรือโรคกระดูกพรุน (Bone Density)”
ทั้งนี้คุณหมอวราภรณ์ได้ยกตัวอย่างกรณี คุณแม่น้องญานินทร์ วงด้วง คลอดลูกก่อนกำหนดซึ่งมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยมากเพียง 750 กรัม ในระยะแรกน้องไม่สามารถดูดนมเองได้ เนื่องจากมีปัญหาการดูดกลืนไม่สัมพันธ์กัน จำเป็นต้องให้นมแม่ทางสายยาง โดยการสนับสนุนแนะนำจากหอผู้ป่วยหน่วยทารกแรกเกิดของสถาบันฯ น้องทานนมแม่นาน 1 ปี ปัจจุบันน้องอายุ 1ขวบ มีน้ำหนักอยู่ 15 กิโลกรัมและมีพัฒนาการได้ตามวัย
ปัจจุบัน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีทารกแรกเกิดที่ป่วยเข้ารับบริการ เฉลี่ยประมาณ 1,200 รายต่อปี จากการติดตามสถิติเปรียบเทียบทารกที่ดื่มนมแม่อย่างเดียวและทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ พบว่า ทารกที่กินน้ำนมแม่อย่างเดียวนานติดต่อกัน 0-3 เดือนมีอัตราป่วยเพียงร้อยละ 26.32 เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่ไม่ได้กินน้ำนมแม่มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 45.45 และทารกที่กินน้ำนมแม่อย่างเดียวนานติดต่อกัน 3-6 เดือน มีอัตราป่วยร้อยละ 32.5 เมื่อเปรียบเทียบกับทารกที่ไม่ได้กินน้ำนมแม่มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 61.84
จะเห็นได้ว่า ทารกที่ได้รับนมแม่มีอัตราการเจ็บป่วยน้อยกว่าทารกที่ไม่ได้รับนมแม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้ตระหนักถึงความสำคัญของการให้นมแม่ทั้งในเด็กป่วยและเด็กปรกติ จึงให้สนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่อย่างต่อเนื่องหลังกลับบ้าน มีการให้คำแนะนำคุณแม่ก่อนรับทารกป่วยกลับบ้าน โดยจัดให้คุณแม่อยู่กับลูกตลอด 24 ชั่วโมง ฝึกความพร้อมการรับลูกกลับบ้าน และฝึกให้ลูกดูดนมจากเต้า
นอกจากนี้ทางสถาบันได้จัดตั้งคลินิกนมแม่และให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ Call Center ด้วยเพื่อให้คำแนะนำและแก้ไขปัญหาสุขภาพทารกแรกเกิด ผู้มีปัญหาสนใจสอบถามสามารถโทรปรึกษาได้ที่ 02 354 8945 ,02 354 8350 มือถือ 081-6278008
ข่าวเด่น