เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จับตา อุตสาหกรรมส่งออกกุ้งไทย


 

 
 
 
หลังต่อสู้มานานกว่า 8 ปี ในที่สุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้ประกาศผลการทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ เอดี ประจำปีครั้งที่ 7 กับสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทย ที่ผู้ส่งออกไทยได้รับอัตราอากรเหลือร้อยละ 0 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ หลังจากที่กรมการค้าต่างประเทศและเอกชน ร่วมกันต่อสู้หลังกุ้งไทยถูกสหรัฐใช้มาตรการเอดีในปี 2548

ซึ่งผลจากการปรับลดอากรเอดีเหลือร้อยละ 0 ทำให้ผู้ส่งออกกุ้งของไทยที่ได้วางหลักประกันอากรเอดีในการส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐ ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2554 -31 ม.ค. 2555 สามารถขอหลักประกันอากรดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยคืนได้ ช่วยให้ผู้ส่งออกมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น และไม่มีอุปสรรคในการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมายของสหรัฐฯ ผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะอุตสาหกรรมกุ้งสหรัฐฯ สามารถยื่นคำร้องให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เปิดการทบทวนอัตราอากรเอดีได้ทุกปี ดังนั้นผู้ส่งออกไทย จึงควรติดตามข่าวการทบทวนอัตราอากรเอดีกับสินค้ากุ้งแช่แข็งของไทยอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้สหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างไต่สวน เพื่อใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน หรือซีวีดีกับสินค้ากุ้งจากไทย ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ต่างในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย เพื่อผลักดันให้อัตราอากรซีวีดีตามผลขั้นสุดท้ายอยู่ในระดับที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย หรือไม่มีการเรียกเก็บอากรในที่สุด
 

 
 
ด้าน สมาคมอาหารแช่เยื่อแข็ง ยอมรับว่า ปี 2556 เป็นปีที่ท้าทายการส่งออกกุ้งของไทย เนื่องจากมีอุปสรรคที่จะกระทบต่อการส่งออกกุ้ง ทั้งปัญหาปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตลดลงเป็นจำนวนมากกว่า 40% ของผลผลิตทั้งประเทศ และหากประเทศไทยไม่สามารถยับยั้งปัญหานี้ได้ คาดว่าผลผลิตจะยิ่งลดน้อยลงไปอีก 

 
 
 
การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เป็นปัจจัยที่กระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ เนื่องจากอุตสาหกรรมกุ้งจำเป็นต้องใช้แรงงานภายในอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงอาจมีผลกระทบเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ เพราะในช่วงที่ผ่านมาอาจยังมีการจ่ายค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ยไม่ถึง 300 บาทต่อวัน 

ค่าเงินบาท มีแนวโน้มที่มีความผันผวน โดยเฉพาะหากเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ก็จะกระทบต่อราคาส่งออกกุ้งของไทยให้มีราคาสูงขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการบางรายจะได้รับยอดคำสั่งซื้อทั้งปีและทยอยส่งมอบตามช่วงเวลาที่ลูกค้ากำหนด ทำให้อาจยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะสั้น แต่หากค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ก็อาจส่งผลกระทบต่อยอดคำสั่งซื้อในอนาคต

ทั้งนี้ สมาคมแช่เยื่อแข็ง ระบุถึงการปรับตัวของอุตสาหกรรมว่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกุ้งไทย ต้องร่วมมือกันและเร่งปรับตัว โดยการแสวงหาตลาดใหม่เพิ่มเพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลัก และในส่วนของภาครัฐ ควรหาแนวทางการรักษาโรคระบาดในกุ้ง โดยเฉพาะโรค EMS ที่ระบาดมากขึ้น รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาการถูกกล่าวหาเรื่องการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งโดยรวม 

ขณะที่ผู้ประกอบการควรเร่งบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน การให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์กุ้งแปรรูปเพื่อสร้างความหลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในแต่ละตลาดมากขึ้น 
 
 
 
ตลอดจนควรเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยการพัฒนาวัตถุดิบกุ้งให้สามารถส่งออกในรูปของอาหารสำเร็จพร้อมทานในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภครุ่นใหม่ในหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำของกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ส.ค. 2556 เวลา : 12:21:26
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 6:17 pm