สุขภาพ
รู้ทันปวดป้องกัน 'ออฟฟิศซินโดรม'




 

อาการ“ปวด” เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจมีปวดน้อยหรือมากต่างกันไป  อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะปวดมากหรือน้อย ทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะอาการปวดที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปรกติของร่างกายว่า  โรคบางอย่างกำลังมาเยือน ซึ่งต้องรีบหาสาเหตุเพื่อนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ก่อนจะลุกลาม เรื้อรังกลายเป็นปัญหาที่ส่งผลบั่นทอนคุณภาพชีวิตของเราได้

 ทั้งนี้เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องดังกล่าว  บริษัทไฟเซอร์(ประเทศ)จำกัด ได้ฉลองโอกาสครบรอบ 55 ปีในไทยด้วยการผลักดันโครงการรณรงค์ด้านสุขภาพใหญ่“รอบรู้เรื่องปวด” (KNOW YOUR PAIN) ประจำปี 2556 นี้ขึ้น  โดยมีเป้าหมายมุ่งส่งเสริมให้คนไทย 45,000 คนทั่วประเทศมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการปวดในลักษณะต่าง ๆ ผ่านการจัดกิจกรรมอาคารสำนักงานต่าง ๆ โรงเรียน โรงพยาบาลและร้านขายยาคุณภาพ  รวมถึงอบรมผู้เชี่ยวชาญ       

รศ.นพ.ประดิษฐ์ ประทีปะวณิช แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและที่ปรึกษาคลินิกระงับปวด โรงพยาบาลศิริราชและอดีตนายกสมาคมการศึกษาเรื่องความปวดแห่งประเทศไทยได้ให้นิยามของการ “ปวด” ระหว่างการเสวนาเชิงปฏิบัติการรอบรู้เรื่องปวดเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า อาการปวดเป็นปัญหาหรืออาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ เป็นความรู้สึกไม่สบายกายและใจ โดยมีสาเหตุมาจากมีเนื้อเยื่อบาดเจ็บเกิดขึ้น ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและเป็นสัญญาณเตือนว่า มีความผิดปรกติเกิดขึ้น เพื่อให้ค้นหา เยียวยาและแก้ไข โดยในไทยนั้น อาการปวดเอวและปวดหลังส่วนล่างคือ สาเหตุอันดับ 2 ที่ทำให้ต้องไปพบแพทย์ รองจากหวัด
ด้านนายแพทย์พิชัย คณิตจรัสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ของไฟเซอร์กล่าวว่าอาการปวดเป็นภัยคุกคามสุขภาพประชาชนมากขึ้นในศตวรรษนี้ โดยจากสถิติด้านสุขภาพของประเทศชั้นนำหลายประเทศพบว่า อาการปวดนอกจากส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย โดยในอังกฤษมีผู้ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดเกือบ 8 ล้านคน แต่มีเพียง 2% เท่านั้น โดยอาการปวดหลังขึ้นแท่นเป็นสาเหตุอันดับ 2 ของการลาป่วยสูงสุดในอังกฤษ ส่วนในสหรัฐฯมีรายงานว่า อาการปวดส่งผลกระทบต่อมูลค่าการผลิตในประเทศเฉลี่ยมากกว่าปีละ 90,000 -100,000 ล้านล้านบาท โดยมีสาเหตุจากอาการปวดศีรษะเป็นอันดับ1  ตามด้วยอาการปวดหลัง
ทั้งนี้หากแบ่งตามลักษณะอาการปวดสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทได้แก่ 1.ปวดเฉียบพลัน ซึ่งรักษาได้ผลดีด้วยยาแก้ปวดชนิดต่าง ๆ  แต่รักษาไปนาน ๆ จะกลายเป็นเรื้อรังได้
2.ปวดเรื้อรัง หมายถึง อาการปวดที่กินเวลานานกว่า 3 เดือน โดยบางรายอาจปวดหลังยาวนานเป็นปี สาเหตุสำคัญมักเกิดจากไลฟ์สไตล์หรือการใช้ชีวิตประจำวัน การรับประทานยาแก้ปวดใช้ได้ผล แต่ใช้ไปนาน ๆ อาจส่งผลต่อร่างกาย กระเพาะอาหารอักเสบ ตับและไตอาจวายได้ ส่วนการใช้มอร์ฟีนอาจทำให้เสพติดยาจนขาดไม่ได้
3.ปวดในผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งทุกระยะของโรคมีอาการปวด แต่ไม่เกิดขึ้นกับทุกคน โดยจะพบประมาณ 30-40% ในผู้ป่วยมะเร็งเท่านั้น เช่น ปวดเนื่องจากตัวก้อนมะเร็งหรือปวดเนื่องจากผลข้างเคียงของการรักษา เป็นต้น 
4.อาการปวดในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งพบได้บ่อยกว่าและสร้างความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยมาก ยากลุ่มมอร์ฟีนถือเป็นตัวช่วยที่สำคัญ
รศ.นพ.ประดิษฐ์กล่าวว่า แม้ปัจจุบันโลกจะอยู่ในยุคSmart Technology ที่มอบความสะดวกสบายให้กับชีวิตในหลายๆ ด้าน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างเรื้อรังเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาวและวัยทำงาน ด้วยรูปแบบงานยุคใหม่ที่แม้ไม่ใช่งานหนัก แต่เป็นงานที่นาน จำเจ และขาดการออกกำลังกาย มักจะเป็นปัญหาปวดของกล้ามเนื้อที่รู้จักกันในชื่อ ออฟฟิศซินโดรม  โดยผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์เฉลี่ยเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน ประมาณ 50%
โรคออฟฟิศซินโดรม จะมีอาการเบื้องต้นด้านร่างกาย ดังนี้คือ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดท้ายทอย สายตาพร่ามัว ปวดกล้ามเนื้อตา  บางครั้งมีอาการมือชา บางคนอาจมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจร่วมด้วยและอาจกลายเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น โรคหัวใจ โรคกระเพาะ เบาหวาน และความดัน เป็นต้น ส่วนอาการในด้านอารมณ์ คือ จะกลายเป็นผู้ที่มองอะไรขวางหูขวางตาไปหมด เกรี้ยวกราดกับเพื่อนร่วมงาน การพูดคุยไม่เหมือนเดิม จะให้ความสนใจแต่เฉพาะในเรื่องของการทำงาน จนส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว   
รศ.นพ.ประดิษฐ์แนะว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรมเนื่องจากมี Smart Technology  เราจำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบ Smart Life กับ 5 วิธีง่ายๆ ทั้งเชิง รับและเชิง รุกเพื่อที่จะเรียนรู้อยู่กับความปวดอย่างมีคุณภาพ ดังนี้  
การป้องกันเชิง “รับ” ได้แก่ 
1. วินิจฉัย รู้จัก หาสาเหตุของอาการปวด เพื่อหาแนวทางการรักษาได้
2. ปรับสภาพแวดล้อม เช่น ปรับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้พอดี ปรับจอภาพคอมพิวเตอร์ให้อยู่ระดับสายตา
3. ปรับโครงสร้างร่างกาย ด้วยการปรับอิริยาบทท่าทาง นั่งให้ถูกท่า
4.ปรับไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิต เช่น นั่งทำงานที่โต๊ะคอมพิวเตอร์นานๆ ควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบทบ้าง
การป้องกันเชิง “รุก” 
5. คือ กายบริหารเพื่อจัดโครงสร้างร่างกาย อย่างสม่ำเสมอ  ด้วยท่าง่ายๆ เพื่อเพิ่มสมรรถนะและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหลายๆ อย่าง คอ ไหล่ สะบัก และหลังส่วนล่าง ซึ่งสามารถเริ่มทำได้เลย
 -ท่าแรก ใช้สองมือประสานเหนือศีรษะและงอข้อศอกมาด้านหน้า  
 -ท่าที่สอง ใช้มือข้างหนึ่งไพล่หลัง ส่วนอีกข้างจับด้านข้างศีรษะ  
 - ท่าที่สาม ประสานมือไปด้านหน้ายืดตั้งฉากและยืดอก
 -ท่าที่สี่เหยียดแขนก้มข้างหน้าให้มากที่สุด
 -ท่าที่ห้า รวบแขนไว้ใต้ขาและยกตัว
ออกกำลังง่าย ๆ เพียงแค่นี้ คั่นเวลาการทำงานของคุณบ้าง ก็อาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นออฟฟิศซินโดรมได้แล้ว..
 
 
 
 
 
 

LastUpdate 17/07/2557 01:43:43 โดย : Admin
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 5:12 pm