ต้องยอมรับว่า การพุ่งขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายและการอุปโภคบริโภคของประชาชน และในที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นของประชาชน ภาคเอกชนและนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ต่างเห็นตรงกันว่า เป็นผลจากการดำเนินนโยบายประชานิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ที่ได้รับการตอบรับอย่างถล่มทลายจากประชาชน จนทำให้ช่วงที่ผ่าน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาเตือนอย่างต่อเนื่องถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
แต่การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน ในมุมมองของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กลับเห็นว่า ปัญหาเกิดจากการนิยามคำว่าหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ผิดตั้งแต่ต้น เนื่องจากคำว่าหนี้ครัวเรือนที่สากลใช้กันส่วนใหญ่ จะหมายถึงหนี้ที่เกิดจากบุคคลธรรมดาที่มีความสามารถในการก่อหนี้ เพื่อลงทุนในทรัพย์สินที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์ในระยะยาว เช่น การซื้อบ้าน รถยนต์ หรือการดูแลคุณภาพชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ขณะที่ประชาชนที่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ เพื่อนำไปประกอบกิจการ ต้องมีการนิยามหนี้ในกลุ่มนี้ใหม่ว่า เป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจมากกว่า
ซึ่งในเรื่องนิยามหนี้ครัวเรือนของ ธปท. นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ชี้แจงว่า คือ สินเชื่อที่ปล่อยให้บุคคลธรรมดา และกิจการขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งเป็นนิยามเดิมที่ ธปท.ใช้ และเป็นไปตามหลักสากลเหมือนกับในต่างประเทศ
แต่ประเด็นที่ ธปท.เป็นห่วง คือ การเร่งตัวของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จาก 50% ของจีดีพี เป็น 80% ของจีดีพี หรือประมาณ 8 ล้านล้านบาท จากมูลค่าจีดีพี 10 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน และเป็นสินเชื่อเพื่อธุรกิจเพียง 2% เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 78% มาจากสินเชื่อบ้าน // รถยนต์ // และอุปโภคบริโภค ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ พบว่าหนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงกว่ารายได้มาก และห่วงว่าจะกระทบกับความสารถในการชำระหนี้ในอนาคต
ดังนั้นจึงเป็นเพียงสัญญาณเตือนจาก ธปท.ให้เฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ยังไม่เป็นปัญหาที่รุนแรง จนถึงขั้นที่ ธปท.ต้องออกมาตรการพิเศษมาดูแลหนี้ครัวเรือน เพราะการออกมาตรการจะต้องมีความระมัดระวัง เพราะอาจกระทบให้เศรษฐกิจภาพรวมยิ่งชะลอตัวลงแรง หากมีการใช้มาตรการแรงเกินไป เพราะในขณะนี้การอุปโภคบริโภคชะลอตัวลงมาก ซึ่งเป็นการปรับตัวของประชาชนที่ระมัดระวังการใช้จ่าย หลังจากที่มีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น" ผู้ว่า ธปท.กล่าวในงานการเตรียมความพร้อมของผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจรับมือกับ AEC ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ
รวมทั้ง ธปท.ได้ให้ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ ศคง. รณรงค์ผ่านสื่อให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่าย อย่าก่อหนี้สูงเกินตัว และรู้จักเก็บออม ผ่านโครงการ รู้จักแบ่ง ก็ไม่ต้องแบกหนี้ เพื่อป้องกันปัญหาก่อนเกิดวิกฤต เพราะหากปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้นจนถึงระดับ 85% ของจีดีพี ประเทศไทยอาจประสบปัญหาเหมือนสหรัฐที่มีปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตขึ้นในปัจจุบัน
นายประสาร ยอมรับด้วยว่า การดูแลเศรษฐกิจ จำเป็นต้องสร้างความสมดุลใน 3 ด้าน คือ หนี้ภาคธุรกิจ // หนี้สาธารณะ // และหนี้ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้ หนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ในระบบทั้งหมด 8 ล้านล้านบาทนั้น เป็นหนี้ในระบบสถาบันการเงินประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท // หนี้ของธนาคารเฉพาะกิจ 2 ล้านล้านบาท // หนี้ในระบบสหกรณ์ 1 ล้านล้านบาท // หนี้ในระบบ non-bank และอื่นๆ อีก 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้ที่ ธปท.ดูแลมีเพียงหนี้ในระบบสถาบันการเงินเท่านั้น ยังมีหนี้ส่วนอื่นยังอยู่นอกเหนืออำนาจของ ธปท.กระจายอยู่หลายกลุ่ม ดังนั้น จึงต้องอยู่ในความไม่ประมาท และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลด้วย
ข่าวเด่น