หลังจากผู้เล่นในตลาดโยเกิร์ตออกมาทำกิจกรรมการตลาดอย่างจริงจังมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาดโยเกิร์ตในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาพรวมตลาดโยเกิร์ตมีอัตราการเติบโตที่ดี ส่วนหนึ่งเกิดจากการออกทำกิจกรรมการตลาดของแบรนด์หลัก และการออกมาเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ที่มีราคาสูงขึ้นเข้าทำตลาด
จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ภาพรวมตลาดโยเกิร์ตในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมามีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 4,374 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 33.4% และในปีนี้คาดการณ์กันว่าภาพรวมตลาดโยเกิร์ตน่าจะมีมูลค่ามาอยู่ที่ 6,086 ล้านบาท เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดรวมโยเกิร์ตมีอัตราการเติบโตต่อเนื่องที่ประมาณ 30%
แม้ว่าตลาดโยเกิร์ตจะมีอัตราการเติบโตในระดับสูง แต่หากกลับมาดูที่อัตราการบริโภคของคนไทยถือว่ายังน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้บริโภคในภูมิภาคยุโรปที่มีอัตราส่วนการบริโภคโยเกิร์ตเฉลี่ย 27 กิโลกรัม/คน/ปี, แคนาดา 10 กิโลกรัม/คน/ปี และอเมริกา 7 กิโลกรัม/คน/ปี ขณะที่ไทยมีอัตราส่วนการบริโภคเพียง 2 กิโลกรัม/คน/ปีเท่านั้น
สาเหตุที่ทำให้คนไทยบริโภคโยเกิร์ตไม่สูงเท่ากับผู้บริโภคในต่างประเทศ หลักๆ เกิดจากทัศนคติในเรื่องของการบริโภคที่ต่างกัน กล่าวคือ ผู้บริโภคชาวไทยนิยมรับประทานโยเกิร์ต เพื่อแก้ไขปัญหาท้องผูกกันเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ต่างประเทศนิยมทานโยเกิร์ตเพื่อเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ส่งผลให้ที่ผ่านมาตลาดโยเกิร์ตไทยแข่งขันกันผ่านผลิตภัณฑ์รูปแบบที่คล้ายๆ กัน แต่ทั้งที่จริงๆ แล้วโยเกิร์ตยังมีอีกหลากหลายชนิดและนวัตกรรมที่น่าสนใจ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด ผู้ผลิต-จำหน่ายผลิตภัณฑ์นมและโยเกิร์ตภายใต้แบรนด์เมจิ กล่าวว่า จากช่องว่างการทำตลาดโยเกิร์ตในประเทศไทยที่ยังมีอีกมาก เพราะปัจจุบันจะเน้นการตลาดในเรื่องของการแก้ปัญหาเรื่องการขับถ่าย และเรื่องความมั่นใจรูปร่าง บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสในการยกระดับตลาดโยเกิร์ตและขยายการเติบโตผ่านการสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ด้วยผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตระดับพรีเมี่ยมผ่านผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตชนิดคงตัว “โยเกิร์ต เมจิ บัลแกเรีย” เข้าทำตลาด
ทั้งนี้ สินค้าดังกล่าวได้รับการการันตีด้วยการเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่นมานานถึง 40ปี และเป็นผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตแบรนด์แรกๆ ที่ได้รับตรา FOSHU (Food for Specified Health Uses) ซึ่งเป็นเครื่องหมายอนุมัติว่าป็นอาหารที่มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพจาก Ministry of Health, Labor, and Welfare (กระทรวงสาธรณสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคม) ประเทศญี่ปุ่น พร้อมผ่านการทำวิจัยเชิงปริมาณกับผู้บริโภคคนไทย ด้านความพึงพอใจต่อภาพรวมของสินค้า และรสชาติของสินค้า กลุ่มเป้าหมายให้คะแนนความชอบ และความพึงพอใจต่อสินค้าสูงถึง 98%
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ก่อนที่จะนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย บริษัทได้ใช้เวลาหลายปีในการศึกษาตลาดผู้บริโภค และการผลิต เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพที่ดีที่สุด พร้อมกันนี้ ที่ผ่านมาบริษัทยังได้มีการใช้งบลงทุนสร้างโรงงานใหม่กว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิต และลงอุปกรณ์เครื่องจักรใหม่ที่ทันสมัยสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อรองรับการผลิตนวัตกรรมโยเกิร์ตชนิดคงตัว
สำหรับแผนการทำตลาดโยเกิร์ต เมจิ บัลแกเรีย ในปีนี้ ซีพี-เมจิ ได้เตรียมงบการตลาดประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้ต่อผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อทุกช่องทาง ขณะเดียวกัน ยังได้ดึง "เจมส์-จิรายุ ตั้งศรีสุข" มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ เพื่อนำเสนอจุดขายของการเป็นโยเกิร์ตแท้ต้นตำรับที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักและใส่ใจการดูแลสุขภาพ พร้อมกับตอกย้ำว่าสินค้าโยเกิร์ตไม่ใช่เหมาะแต่กับผู้หญิง แต่เหมาะกับทั้งชายและหญิงที่ต้องการดูแลสุขภาพ
ในด้านของการทำการตลาด ซีพี-เมจิ ได้ใช้ช่องทางร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นช่องทางแรกในการทดลองทำตลาดโยเกิร์ต เมจิ บัลแกเรีย เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เริ่มวางจำหน่ายสินค้าในช่องทางดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในแต่ละวัน ซีพี-เมจิคาดว่าจะมียอดขายจากร้านเซเว่นฯ ไม่ต่ำกว่า 6-8 หมื่นถ้วยต่อวัน และหลังจากครบระยะเวลา 1 เดือน จะเริ่มมีการขยายช่องทางจำหน่ายไปยังร้านค้าปลีกต่างๆ ต่อไป
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ขึ้นเป็นผู้นำทางด้านผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์มากว่า 10 ปี การออกมาเปิดตัวโยเกิร์ตระพรีเมียมเข้าทำตลาดในครั้งนี้ บริษัทมั่นใจว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาด 7% ภายใน 3 เดือนแรกหลังการวางสินค้าเข้าทำตลาด และมีส่วนแบ่งการตลาดโยเกิร์ตรวม 10% ภายในสิ้นปีนี้
การออกมาเปิดตัว โยเกิร์ต เมจิ บัลแกเรีย เข้าทำตลาดในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำผู้นำตลาดนมพาสเจอร์ไรส์ ของซีพี-เมจิ ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 50 % ขณะที่ตลาดโยเกิร์ตปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10% เป็นอันดับ 3 ในตลาดรองจากแอคทีเวีย และอันดับ 1 เป็นของโยเกิร์ตดัชชี ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 60%
หลังจากออกมาทำตลาดโยเกิร์ตอย่างจริงจัง ซีพี-เมจิ มั่นใจว่าสิ้นปี 2557 จะมีส่วนแบ่งการตลาดโยเกิร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 20% หรือมีรายได้จากโยเกิร์ต อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากปี 2557 มีแผนที่จะส่งออกโยเกิร์ต เมจิ บัลแกเรีย ไปทำตลาดในประเทศสิงคโปร์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งหลังจากออกมาเปิดตัวสินค้าใหม่เข้าทำตลาดอย่างต่อเนื่อง ซีพี-เมจิ มั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5,200 ล้านบาท
ข่าวเด่น