เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 30/2556: เสียงสะท้อนจากครู อาจารย์ มายังเด็กไทย ข้อคิดที่ผู้ใหญ่ต้องกลับมาสะสาง



ในวันสุดสัปดาห์นี้ขณะที่ผู้เขียนเสร็จจากการบรรยายให้กับกลุ่มนักธุรกิจกลุ่มหนึ่งในเรื่องบรรยากาศและสภาพการณ์เศรษฐกิจ สังคมและการจัดการ สิ่งหนึ่งที่สะท้อนจากคนกลุ่มนี้ในฐานะคนที่เป็นพ่อแม่ของเยาวชนไทย โดยที่เด็กๆ เหล่านั้นกำลังศึกษาเล่าเรียนเพื่อจะได้ออกไปใช้ชีวิตจริงในโลกของการแข่งขัน และต้องแข่งขันกับคนรุ่นเดียวกันที่เป็นต่างชาติว่า "คนของเรา เด็กของเราจะสู้เขาได้หรือไม่ จะรอดไหม ภาษาและการใช้ชีวิตจะไปได้ไหม"

และเมื่อผมได้อ่านบทความของ  ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ : atchara.y@bu.ac.th  ซึ่งเป็นรุ่นน้องที่ผมชื่นชมผลงานของเธอมาก เธอมุ่งมั่นที่จะให้ความรู้และคิดอยู่เสมอว่า เด็กไทยต้องเรียนรู้และต้องรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่เราเรียกว่า Personal Finance Management ให้มาก

ข้อเขียนเรื่อง "ไม่รู้ ไม่มี ไม่สร้าง...ไม่รอด" ที่ผมได้อ่านจึงโดนใจผมมากและขอนำเอาบางส่วนมาขยายผลต่อให้กับท่านผู้อ่านดังนี้นะครับ เพื่อที่ว่าท่านที่เป็นพ่อแม่จะได้ลงมาแก้ไขปัญหาของบุตรหลานท่าน

ในบทความตอนหนึ่งกล่าวว่า "จากการที่ผู้เขียน (ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์) ไปสอน Summer Course ที่ Dongseo University ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ สังเกตเห็นว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการใช้เงินของนักศึกษาแต่ละประเทศดูจะมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อยเลย ตั้งแต่เสื้อผ้า หน้าผม รองเท้า กระเป๋า โทรศัพท์มือถือ Gadget ต่างๆ ดู รวมๆ แล้ว โดยเฉลี่ยเด็กไทย นักศึกษาไทยที่ไปร่วมโครงการจะดูสวย หล่อล้ำ นำสมัยกว่าใครๆ ยิ่งเรื่องกิน เรื่องช๊อปปิ้งไม่ต้องพูดถึง คนของเรามาที่หนึ่งไม่แพ้ใคร นักศึกษาไทยหลายคน ช๊อปปิ้งจนต้องจ่ายค่าปรับเพราะน้ำหนักกระเป๋าเกินโดนปรับกันไปหลายพันบาท แถมยังมีกระเป๋าเล็กกระเป๋าน้อย มีเป้สะพายหลังหิ้วขึ้นเครื่องมาเองอีกคนละห้าหกใบ"

และเธอยังสะท้อนต่อไปอีกว่า ประทับใจนักศึกษาจากประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นพิเศษ นักศึกษาจาก 3 ประเทศนี้ ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษดีกว่าเด็กไทย (โดยเฉลี่ย) แต่ยังตรงต่อเวลา ตั้งใจเรียน เอาใจใส่ในการเรียน ตอบคำถามได้อย่างฉะฉาน มีทักษะในการเขียนตอบที่ดี กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบและเป็นผู้ใหญ่  ในขณะที่เสื้อผ้า หน้าตา กระเป๋า รองเท้า โทรศัพท์มือถือกลับดูธรรมดาอย่างมาก ส่วนใหญ่จะใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบ ทานข้าวใน Cafeteria ตามที่ทางโครงการจัดไว้ให้ ส่วนโทรศัพท์มือถือของนักศึกษาฟิลิปปินส์และมาเลเซียที่ได้เจอ_นักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ได้ใช้ Smart_phone
         

เธอกล่าวต่อว่า สิ่งที่สะท้อนออกมาจากตัวเลขหนี้สินครัวเรือนและพฤติกรรมการเรียน การใช้ชีวิต การใช้เงินของคนรุ่นใหม่ เมื่อพิจารณาร่วมกับสภาพสังคมที่นิยมการบริโภคมากขึ้นและนิสัยรักสบาย การขาดระเบียบวินัยของคนไทย และสาเหตุสำคัญที่สร้างให้เรามีปัญหาทางการเงินคงเป็นเพราะ
 

1._คนไทยส่วนใหญ่ "ไม่รู้" สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตัวเอง หรืออาจจะ "ไม่อยากรู้" "ไม่อยากรับรู้" หรือ "ไม่ยอมรับ" ก็เป็นได้
 

2._คนไทยส่วนใหญ่_"ไม่มี"_เป้าหมายทางการเงินที่ชัดเจน_จึงใช้จ่ายเงินอย่างไม่มีเหตุผล
 

3._คนไทยส่วนใหญ่_"ไม่สร้าง"_ภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ตัวเองอย่างจริงจัง
 

ยิ่งได้เห็น ได้รู้จัก ได้เปรียบเทียบกับนักศึกษาจากประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ยิ่งเห็นชัดถึงความแตกต่างในหลายด้านของนักศึกษาซึ่งเป็นผลผลิตของระบบการศึกษาในแต่ละประเทศ...

การที่คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดทักษะชีวิต (Life skill) หลายด้าน โดยเฉพาะด้านการจัดการทางการเงิน เด็กๆ ที่จะเป็นคนรุ่นต่อไปของไทยเรา โดยเฉพาะนักศึกษาขาดเป้าหมายในการใช้ชีวิต ขาดความมุ่งมั่น ขาดระเบียบวินัย แถมยังใช้เงินเก่ง ไม่เคยวางแผนการเงิน.... แต่อยากรวย อยากเงินมีทองเยอะๆ อยากมีอาชีพอิสระ ไม่อยากทำงานหนัก อยากใช้ชีวิตสบายๆ เส้นทางที่เดินไป เส้นทางที่สร้าง และจุดหมายปลายทางที่ฝันนั้น ผมมีความเห็นเช่นเดียวกับ ดร.อัจฉรา ว่า คนของเราคง "ไม่รอด" และขอบคุณเธออีกครั้งกับการเตือนสติสังคมไทยครับ

สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ส.ค. 2556 เวลา : 16:31:58
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:44 pm