เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยถดถอยทาง"เทคนิค"


 

 

ขณะที่ยุโรปกำลังจะหลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่สำหรับเศรษฐกิจไทย หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ได้แถลงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวเพียง 2.8% และตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ว่า "เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค" (Technical Recession) ผลจากตัวเลขจีดีพีหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยไตรมาส 2 หดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า0.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่หดตัว 1.7% ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกขยายตัวได้เพียง 4.1% 

ซึ่งจีดีพีไตรมาส 2 ที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก ทำให้ "บีบีซี" สื่อจากสหราชอาณาจักร เสนอบทความเรื่อง "Thailand's economy enters recession" หรือ "เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย" โดยระบุว่า จีดีพี ของไทยหดตัวอย่างคาดไม่ถึงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ที่ 0.3% และไตรมาสแรกของปีหดตัว 1.7% ทั้งที่ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยเติบโตแซงหน้าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเมื่อปีที่แล้วขยายตัวถึง 6%

แต่สำหรับมุมมองของบุคคลต่างๆ ในแวดวงการเงินการธนาคาร เช่น นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับเชื่อว่า เศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แม้จะชะลอตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส แต่เป็นเพียงตามคำนิยามของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค นั่นคือ เศรษฐกิจชะลอตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสติดต่อกัน 2 ไตรมาส ถือเป็นนิยามที่หยาบๆ แต่หากเทียบกับฐานที่ไม่ปกติ ก็จะมีการปรับเรื่องฤดูกาลออก เช่น เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2555 เติบโตสูงจากปัญหาน้ำท่วม เมื่อเอาไตรมาส 1 ปีนี้เทียบจึงติดลบ และมีผลต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 ด้วย

สอดคล้องกับมุมมองของ นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่เห็นว่า เศรษฐกิจของไทยที่ประกาศออกมาชะลอตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ตามเทคนิคแล้วก็ถือว่าเป็นภาวะถดถอยตามคำนิยาม แต่การจะดูว่า เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างแท้จริงหรือไม่ ต้องดูรายละเอียด ซึ่งกรณีของไทยมีปัจจัยเรื่องน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 เข้ามาทำให้ตัวเลขไตรมาส 4 ปี 2555 เติบโตค่อนข้างสูง และยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้ามาหนุนอีกด้วย ดังนั้น หากนำมาเทียบไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2556 จึงทำให้การเติบโตติดลบ

ในขณะที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเป็นเพียงการถดถอยทางเทคนิคเท่านั้น เพราะเทียบปีต่อปียังขยายตัวอยู่ไม่ได้ติดลบ

และยังสอดคล้องกับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่ผลการประชุมเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 56 คณะกรรมการมีมติด้วยเสียง 6:1 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 2.5% เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ส่วนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ยังใกล้เคียงกับที่เคยคาดการณ์ไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยชะลอลงตามการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดยานยนต์และกลุ่มสินค้าคงทน หลังมาตรการรถคันแรกทยอยหมดลงและการสะสมหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น ส่วนการส่งออกที่ชะลอลงสอดคล้องกับเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่มองไปข้างหน้าอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกคาดว่า จะทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น  


LastUpdate 22/08/2556 10:05:05 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 6:55 pm