ท่ามกลางกระแสโลกที่เข้าสู่ยุคดิจิตัล ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบันเปลี่ยนไป บวกกับปรากฎการณ์ “พี่มากพระโขนง”ในช่วงต้นปีที่สามารถทำรายได้สูงถึง 1,000 ล้านบาท กระตุ้นให้ตลาดภาพยนตร์ตื่นตัวอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน เมเจอร์ ซีนีแอด ในฐานะผู้นำตลาดด้านสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 75% ไม่ยอมพลาดโอกาสสำคัญ ลุยจัดกระบวนทัพใหม่ โดยดึงสรรพกำลังที่มีอยู่ทั้งหมดในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ปมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อเมเจอร์เอง รวมเพื่อลูกค้าและพาร์ทเนอร์ หวังเป้ารายได้ทะลุ 1,000 ล้านบาทรับปีทองของธุรกิจภาพยนตร์
ปรับกลยุทธิ์ทำโฆษณาตามหนังที่ฉาย-แยกขาย
ทั้งนี้ เมเจอร์ ซีนีแอด บริษัทในเครือ เมเจอร์ ซี เพล็กซ์ กรุ๊ป ได้ปรับรูปแบบการขายสื่อโฆษณาใหม่เป็นแพ็คเกจโฆษณาตามภาพยนตร์ที่เข้าฉายและมีการแยกขายสื่อโฆษณาของสาขา พารากอน ซีนีเพล็กซ์ เป็นพิเศษโดยได้เริ่มดำเนินการแล้วนับแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังเดินหน้ารุกพัฒนาสื่อดิจิตอลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับสังคมยุคดิจิตอลในปัจจุบัน โดยนำเสนอในช่องทางและรูปแบบหลากหลายที่เรียกว่า Multi Platform ซึ่งมั่นใจว่า จุดเด่นของสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์จะสร้างประสบการณ์ ในการรับรู้เหนือสื่อโฆษณาอื่น ๆ ทั่วไปและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยตรง
นายนิธิ พัฒนาภักดี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสื่อโฆษณาเปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวปรับกลยุทธิ์ใหม่ส่วนหนึ่งมาจากแรงกระตุ้นของปรากฎการณ์พี่มากพระโขนงที่สามารถทำรายได้อย่างถล่มทลายถึง 1,000 ล้านบาท ผสมผสานกับผลการศึกษาวิจัยของบริษัทGFK จากเยอรมนีที่ทำการศึกษาให้กับทางเครือเมเจอร์เพื่อค้นหาข้อมูลในเชิงลึก ดูภาพรวมของลูกค้าที่มาชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ของเมเจอร์หรือที่เรียกว่า "ชาวเมเจอร์" ว่ามีพฤติกรรมอย่างไร ชอบอะไร คิดอะไร เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการดูแลลูกค้า ซึ่งเมเจอร์มีฐานลูกค้าที่มาชมภาพยนตร์อยู่มากกว่า 30 ล้านคน รวมถึงนำมาใช้ด้านพัฒนาสื่อโฆษณา
การวิจัยดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนโดยศึกษาสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 คนที่ชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์ทั่วประเทศอย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือนและอีก 8 กลุ่มเป้าหมายในเขตกรุงเทพมหานครและอุดรธานี โดยแบ่งกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์เป็นกลุ่มนักศึกษาอายุ 14-19 ปี กลุ่มคนทำงาน 20-29 ปี กลุ่มผู้ใหญ่ 30-39 ปีและกลุ่มครอบครัว อายุ 40 ปีขึ้นไป ผลลัพธ์ที่ได้สะท้อนไลฟ์สไตล์ที่สำคัญหลายอย่างของชาวเมเจอร์ โดยพบว่า คนในยุคปัจจุบันหรือไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มีการมีส่วนร่วมต่ำ แต่มีสูงถึง 80% ที่ชอบทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน เช่น ใช้งานคอมพิวเตอร์ ร่วมกับดูทีวี ใช้โทรศัพท์มือถือ มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา ไม่อยู่นิ่งอยู่กับที่และมีมากถึง 83% ที่ชอบทำกิจกรรมนอกบ้าน
ผนวกไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่พัฒนาสื่อ
ในภาพรวมแล้วแสดงให้เห็นว่า ชาวเมเจอร์ส่วนใหญ่มีไลฟ์สไตล์เป็นคอนซูเมอร์รุ่นใหม่ที่ชอบแสวงหาความสุขหรือพร้อมที่จะจ่ายเพื่อแลกกับความสุขให้กับตัวเอง ขณะเดียวกันชาวเมเจอร์ส่วนใหญ่ยังเป็นค่อนข้างมีรายได้ดีและมีการศึกษาที่ดี จัดอยู่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ชอบอะไรใหม่ ๆ เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ใช้อุปกรณ์ไฮเทคในชีวิตประจำวันและใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์สูง อีกทั้งชอบที่จะแชร์ภาพยนตร์ที่ตนดูมากับเพื่อน ๆ
นอกจากนี้ยังพบว่า มีเพียงส่วนน้อย 5-7% เท่านั้นที่ไม่ชอบโฆษณาในโรงภาพยนตร์ ในขณะที่มีมากถึง 67% ที่ตั้งใจชมและ 63% ชอบที่จะชมโฆษณาในโรงภาพยนตร์มากกว่าในทีวี บ้างก็บอกว่า ดีมาก สนุกที่มีการนำมุขในภาพยนตร์มาเล่น
“ผลจากการวิจัย บวกกับการตื่นตัวของวงการภาพยนตร์ทำให้คิดนำกลุ่มธุรกิจในเครือทั้งหมดมาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งเมเจอร์เองและเพื่อลูกค้า โดยธุรกิจในเครือของเมเจอร์มีโรงภาพยนตร์ 6 แบรนด์ รวมประมาณ 500 โรงใน 74 พื้น ปลายปีจะเพิ่มมาอีกที่เชียงใหม่และหาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจโบว์ลิ่ง ลานไอซ์สเก็ต ผลิตภาพยนตร์และจัดจำหน่ายธุรกิจผลิต DVD และอื่น ๆ ขณะที่มีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 30 ล้านคนหรือมีผู้เข้าชมภาพยนตร์โรงละ 3 ล้านคนต่อเดือน” นายนิธิกล่าว
นายนิธิกล่าวต่อว่า ในส่วนของการแยกขายพารากอน ซีนีเพล็กซ์ ทำโดยขายเป็นรายเดือน หากต้องการอะไรเพิ่มเติมค่อยคิดเพิ่ม ส่วนราคาค่าโฆษณาได้ปรับขึ้นแล้วราว 15% ตั้งแต่ปลายปี ซึ่งสาขาพารากอนนับว่าเป็นตัวทำรายได้อันดับ 1 หรือราว 10% ของยอดรายได้จากโฆษณาทั้งหมด สำหรับการขายตามภาพยนตร์ที่เข้าฉาย เช่น แพคเกต 20 เรื่องมีราคาเท่าไรและมีอะไรเพิ่มเติมบ้างค่อยเพิ่มเป็นราย ๆ ไป ส่วนการพัฒนาโฆษณาในโรงภาพยนตร์จะร่วมกันทำตามความต้องการของลูกค้า ขณะนี้เสนอลูกค้าไปแล้ว 20 รายซึ่งมีประมาณครึ่งหนึ่งที่อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันและคาดว่า ลูกค้าจะโตขึ้นทั้งรายเก่าและรายใหม่ โดยกลุ่มที่คาดว่าจะโตขึ้นได้แก่ กลุ่มบริษัทด้านเครื่องดื่ม รถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือ อนาคตอาจจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน (Personal Care)และผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
ครึ่งหลังบุกตลาดสื่อออนไลน์เพิ่ม
ทั้งนี้ในครึ่งหลังของปี 2556 เมเจอร์ ซีนีแอด จะลุยงานในหลายด้านทั้งด้านปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบดิจิตอลในเดือนกันยายน ซึ่งจะทำให้การบริหารงานด้านภาพยนตร์และโฆษณาทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันจะบุกงานด้านสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจุบันเฟสบุ้ค(FB)มาแรง ถือเป็นช่องทางที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวมากที่สุด นอกเหนือจากนั้นจะติดตั้งสื่อโฆษณาในรูปของจอแอลอีดี(LED) เพิ่มขึ้นตามสาขาต่าง ๆ เช่น สาขารัชโยธิน รังสิตและปิ่นเกล้า คาดว่า ปีหน้าด้านจอจะโตขึ้นโดยจะใช้งบลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท
สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ จะบุกตลาดสาขาต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ไม่เน้นเฉพาะจังหวัดใหญ่เท่านั้นแต่ยังรวมถึงจังหวัดระดับรองด้วย คาดว่าจะโต 30-40% เนื่องจากมีศักยภาพในการทำตลาดสูง มีงานอีเวนต์น้อยกว่า ดังนั้นเมื่อจัดจึงได้รับความสนใจสูง
จากกลยุทธ์ใหม่ ๆและปรับตัวใหม่นี้คาดว่า จะมีผลการดำเนินการตลอดทั้งปีมียอดรายได้โตไม่น้อยกว่า 20% ทะลุเป้า 1,000 ล้านบาท จากปีที่แล้วได้ 800 ล้านบาท หลังจากในครึ่งปีแรกรายได้เติบโตขึ้นมาแล้ว 40%
ขยายกิจการรับมือ AEC
ในส่วนของการขยายธุรกิจเพื่อรองรับการรวมเป็นตลาดเดียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)นั้นนายนิธิเปิดเผยว่า ในปี 2014 เครือเมเจอร์มีโครงการสร้างโรงภาพยนตร์มาตรฐานโลกร่วมกับบริษัทอิออน มอลล์ บริษัทในเครือของศูนย์การค้าอิออน มอลล์ของญี่ปุ่นที่กัมพูชา หลังจากร่วมมือกันในอินเดียประสบความสำเร็จมาแล้วทั้งธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจโบว์ลิ่ง นอกจากนี้ได้ไปสำรวจที่เวียดนามและพม่าแล้ว เพื่อขยายงานด้านโรงภาพยนตร์และด้านสื่อโฆษณา
ข่าวเด่น