ตลาดหลักทรัพย์ เตือนสตินักลงทุนวิเคราะห์ให้รอบคอบ หยุดตื่นกระแสเศรษฐกิจถดถอย พร้อมชี้ บจ.ไทยยังพื้นฐานแน่นปึ้กเงินสดล้นกว่า 6.4 แสนล้านบาท คิดเป็นแคชกว่า 6.8%ของสินทรัพย์รวม สูงกว่าช่วงวิกฤตปี 40 ที่มีน้อยกว่า 2% แถมมีหนี้น้อยแค่ 1.2 เท่า หวังช่วยเบรกภาวะหุ้นร่วงเกินความจริง หลังจากที่ข้อมูลล่่าสุดชี้ว่ามีหุ้นมูลค่าทางบัญชีต่ำกว่า 1 เท่า สูงถึง 143 บริษัท
นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวเศรษฐกิจถดถอยค่อนข้างมาก จนเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้แก่นักลงทุน ดังนั้นจึงอยากชี้แจงว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ได้กระทบถึงพื้นฐานธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)แต่อย่างใด โดยจะเห็นได้จากกระแสเงินสดรวมของ บจ.(ไม่รวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์)ทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เอ็มไอ(mai) ที่มีมูลค่ารวม ณ ช่วงไตรมาส2/56 ทั้งสิ้น 6.4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 6.8% ของสินทรัพย์รวมทั้งสิ้นที่มีมูลค่า 9.5ล้านล้านบาท
โดยตัวเลขกระแสเงินสดดังกล่าว ถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐดิจ จนส่งผลให้ บจ.มีแคชโฟลต่ำกว่า 2% ของสินทรัพย์
นอกจากนี้ ตลท.ยังพบว่า ปัจจุบัน บจ.โดยรวมมีอัตราหนี้สินต่อทุน(Debt to Equity:D/E) ค่อนข้างต่ำเฉลี่ยเพียง 1.2 เท่า ดังนั้นตัวเลขทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าบจ.ไทยส่วนใหญ่ยังมีพื้นฐานทางการเงินที่ดี
อย่างไรก็ตาม กระแสความกังวลเศรษฐกิจถดถอยก็ยังมีผลกดดันบรรยากาศการลงทุนอยู่ เนื่องจากจะเห็นได้ว่ามีจำนวน บจ.ที่ราคาตามมูลค่าทางบัญชี (Price to book) ต่ำกว่า 1 เท่า เพิ่มขึ้นเป็น 143 บริษัท แบ่งเป็น หุ้นในกลุ่มนอก SET50 จำนวน132 บริษัท และหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ 11 บริษัท มากกว่าทั้งปีก่อนที่มีอยู่ราว 119 บริษัท แสดงให้เห็นว่ามีหุ้นหลายบริษัทถูกนักลงทุนขายทิ้งอย่างมากในปีนี้
“จริงหรือเปล่าที่เศรษฐกิจไทยกำลังจะถดถอย เรื่องนี้ถ้าเราดูกันที่ผลประกอบการบจ. ก็พบว่าส่วนใหญ่ 80% มีกำไรเติบโตดี จ่ายปันผลต่อเนื่อง เพียงแต่สถานการณ์ที่เราพบตอนนี้คือ มีหุ้นที่โดนขายเยอะออกมาก จน Price to Bookต่ำกว่า1 เท่า ถึง143บริษัท ดังนั้นก็เลยอยากให้นักลงทุนลองเรียกสติ แล้วพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางธุจกิจให้ดีด้วย” นายชนิตรกล่าว
นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ทอง ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลท. กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่สนใจจะเข้ามาจดทะเบียนเพื่อกระจายหุ้นให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) 25 บริษัท แบ่งเป็น ตลาดหลักทรัพย์ 13 บริษัท ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ 11 บริษัท และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน 1 กองทุน ซึ่งคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเข้ามาจดทะเบียนได้ราว 15 บริษัท เพิ่มเติมจากในช่วงที่ผ่านมาซึ่งมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนใหม่แล้วทั้งสิ้น 21 บริษัท หรือคิดเป็นมูลค่าตามราคาตลาดราว 2.3 แสนล้านบาท
ข่าวเด่น