เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ ส่งออกไทยเดือนกรกฎาคมหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม


ส่งออกไทยเดือนกรกฎาคมหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม

 Event
 
 กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 19.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 1.5%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 1.1%YOY ดุลการค้าขาดดุล 2,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
 
Analysis
 
การส่งออกไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมที่หดตัว 1.5% นั้นนับเป็นการหดตัวเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยการส่งออกไปจีนลดลง 6.4% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ขณะที่การส่งออกไปยังญี่ปุ่นหดตัวสูงถึง 10.5% อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนทั้งใน อาเซียน-5 (สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน) และประเทศในกลุ่มอินโดจีน (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เติบโตได้ดีที่ระดับประมาณ 9% ในเดือนกรกฎาคม     
 
การส่งออกคอมพิวเตอร์และยางพารายังคงเป็นปัญหาหลักของการส่งออกไทย มูลค่าการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบหดตัวสูงถึง 53%YOY เช่นเดียวกับการส่งออกยางพาราที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2012 และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว โดยนอกจากราคายางที่ลดลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ปริมาณยางส่งออกเดือนกรกฎาคมยังลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนอีกด้วย
 
การนำเข้าค่อนข้างทรงตัว มูลค่าการนำเข้าเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 21.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใกล้เคียงกับการนำเข้าเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ดี การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมและเครื่องจักรไฟฟ้ายังหดตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากได้มีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรเพื่อชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมตั้งแต่ปีที่แล้ว อีกทั้งเป็นผลจากการชะลอการผลิตเนื่องจากแนวโน้มการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัวลง 
 
ขาดดุลการค้า 2,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้มูลค่าการนำเข้าจะไม่สูงมากนัก แต่มูลค่าการส่งออกในระดับต่ำ ทำให้ดุลการค้าขาดดุลเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน
 
Implication
 
การส่งออกไทยฟื้นตัวช้ากว่าคาด การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคมหดตัวมากกว่าคาดและไม่สอดคล้องกับการส่งออกของประเทศในภูมิภาคเอเชียเช่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่กลับมาขยายตัวได้ดี โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์ที่หดตัวเกินคาดที่ระดับ 10%YOY หลังจากที่ขยายตัวได้ดีมาโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากการส่งออกรถยนต์ยังคงหดตัวต่อไปอาจกระทบต่อการส่งออกไทยโดยรวมได้ อย่างไรก็ดี EIC ประเมินว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีน่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซน
 


 


LastUpdate 27/08/2556 18:01:43 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 6:44 pm