การตลาด
สกู๊ป : "กันตนา"ทุ่มพันล้าน เปิด "โรงหนังชุมชน" เจาะตลาดภูธร


 

 

จากการที่โรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่  ส่งผลให้ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นช่องว่างของธุรกิจโรงภาพยนตร์  ด้วยการประกาศตัวเข้ามาสู่สมรภูมิโรงภาพยนตร์ในรูปแบบ “โรงหนังชุมชน” ภายใต้ชื่อ “กันตนา ซีนีเพล็กซ์”  ภายใต้แนวคิด โรงภาพยนตร์ชุมชน  One Frame ,One Culture 

ก่อนที่จะประเดิมเริ่มธุรกิจโรงภาพยนตร์ บริษัท กันตนา ได้ใช้งบประมาณ 120  ล้านบาท ในการเช่าทรานสปอนเดอร์หรืออุปกรณ์ส่งคลื่นความถี่ของไทยคม  เพื่อส่งสัญญาณดาวเทียมไปยังโรงภาพยนตร์สาขาต่างๆ  พร้อมกับลงทุนด้านระบบซอฟท์แวร์และเฟิร์มแวร์ เพื่อวางระบบการฉายหนังไปยังโรงภาพยนตร์ชุมชนของตัวเอง

นายจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า  การที่บริษัทหันมาทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ชุมชน  เพราะต้องการให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์เข้าถึงชุมชนในชนบท ด้วยการใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อดึงดูดให้เกิดการเชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งการดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้จัดตั้ง บริษัท เอเชีย ซีนีม่า เน็ตเวิร์ค จำกัด หรือ ACN  ขึ้นมา เพื่อสรรหาผู้ร่วมลงทุนในท้องถิ่นระดับอำเภอทั่วประเทศ โดยขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการมากกว่า 540 โรงแล้ว

สำหรับในส่วนของสาขาแรก บริษัท กันตนา คาดว่าเร็วๆ นี้ จะพร้อมดำเนินการก่อสร้าง แต่จะเป็นสถานที่ไหนนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งในส่วนของการลงทุนแต่ละสาขาจะใช้งบประมาณ 1.2 ล้านบาท เนื่องจากโรงภาพยนตร์ดังกล่าวจะใช้พื้นที่เพียง 200 ตร.ว.เท่านั้น  และ 1 สาขาจะมีโรงภาพยนตร์เพียง 1 โรง จำนวน 50 ที่นั่ง 

ด้านราคาตั๋วภาพยนตร์  บริษัท กันตนา วางไว้ที่ตั๋วใบละ  30  บาท  เพราะบริษัทต้องการกระจายสาขาให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในแต่ละท้องถิ่น ประกอบกับจากการคำนานมาตรฐานราคาตั๋วจะอยู่ที่อัตราส่วน 10% ของรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งเมื่อคำนวณออกมาจึงอยู่ในระดับราคาที่  30  บาท ส่วนภาพยนตร์ที่จะนำเข้าฉายอาจจะมีทั้งภาพยนตร์เก่าและภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ใหญ่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้  เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับการเจรจากับสายหนังและเจ้าของหนัง 

นอกจากนี้  เพื่อให้เป็นโรงภาพยนตร์ชุมชน กันตนา ซีนีเพล็กซ์  จึงเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีคุณภาพเต็มรูปแบบแม้จะมีต้นทุนต่ำ โดย บริษัท กันตนา ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีระบบจัดการเบ็ดเสร็จ คือ “Kantana Intelligent One Touch” ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการดำเนินการฉายภาพยนตร์ได้อย่างง่ายดายไม่เปลืองแรงงาน ด้วยการกดเพียงปุ่มเดียว ระบบการฉายภาพยนตร์จะเริ่มปฏิบัติการแบบอัตโนมัติไปตามขั้นตอนต่างๆ เช่น ไฟหรี่ลง ฉายภาพยนตร์ตัวอย่าง ฉายภาพยนตร์โฆษณา และดับไฟเข้าสู่การฉายภาพยนตร์หลัก เป็นต้น

ทั้งนี้ ระบบปฏิบัติการดังกล่าวจะเป็นการรับส่งสัญญาณจากส่วนกลางผ่านดาวเทียมไปสู่ทุกโรงภาพยนตร์ เพื่อฉายภาพยนตร์ในระบบภาพดิจิตอล และระบบเสียง Surround 5.1 และ 7.1 ทั้งยังมีระบบ “Watermark” ช่วยตรวจสอบและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์จากการลักลอบถ่ายภายในโรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายจาฤก กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ในระยะสั้น บริษัทคาดว่าสิ้นปี 2557 น่าจะมีจำนวนสาขาโรงภาพยนตร์ชุมชนเปิดให้บริการครบ 1,000  สาขา ซึ่งหลังจากเริ่มเปิดให้บริการคาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทต่อปี  ซึ่งในส่วนของบริษัทจะมีรายได้มาจากการโฆษณาเป็นหลัก ขณะที่พันธมิตรท้องถิ่นจะมีรายได้จากส่วนแบ่งการขายตั๋ว การให้เช่าพื้นที่ขายสินค้า และการขายสินค้า โดยหลังจากลงทุนดังกล่าวบริษัทคาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 5 ปี

นอกจากเป้าหมายทางธุรกิจแล้ว บริษัท กันตนา ยังต้องการให้โรงภาพยนตร์ชุมชนเหล่านี้เข้าไปช่วยกระจายความเจริญของธุรกิจในต่างจังหวัด  และลดช่องว่างระหว่างคนเมืองกับคนในชุมชนชนบท เพราะนอกจากจะมอบโอกาสให้คนชนบทได้รับความบันเทิงในมาตรฐานคุณภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นโครงการช่วยพัฒนาพื้นที่ให้เกิดเป็นศูนย์ชุมชนอย่างแท้จริง เพราะโรงภาพยนตร์ดังกล่าวจะเป็นสถานที่ที่ให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ เช่น นำสินค้าพื้นเมืองและผลผลิตต่างๆในชุมชนมาขาย หรือใช้เป็นสถานที่จัดงานจัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ ของท้องถิ่น ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่การประชุม ไปจนถึงการรับชมการถ่ายทอดภาพงานกิจกรรมต่างๆ

นายจาฤก กล่าวต่อว่า  นอกจากจะมีผู้สนใจในแต่ละชุมชนทั่วประเทศเข้ามาแสดงความสนใจร่วมธุรกิจโรงภาพยนตร์ชุมชนกับบริษัทแล้ว ขณะนี้ยังมีพันธมิตรจากประเทศเพื่อนบ้านแสดงความสนใจขอนำโรงภาพยนตร์ชุมชน กันตนา ซีพีเพล็กซ์  เข้าไปเปิดให้บริการอีกด้วย  ซึ่งประเทศที่แสดงความสนใจมีด้วยกัน  6 ประเทศ  ประกอบด้วย  อินโดนีเซีย  มาเลเซีย เวียดนาม  ลาว  พม่า  และกัมพูชา 

โดยในส่วนของงบการลงทุนเบื้องต้นคาดว่าจะใกล้เคียงกับการลงทุนในประเทศไทย  เนื่องจากระบบฉายจะเป็นการยิงสัญญาณดาวเทียม ซึ่งในส่วนของจำนวนโรงหนังเบื้องต้น ประเทศพม่าคาดว่าจะมี 500 โรง  กัมพูชา 200 โรง  อินโดนีเซียไม่ต่ำกว่า 1,000 โรง มาเลเซียหลักร้อยโรง  เวียดนาม 1,000 โรง  และลาว 50 โรง

การออกมาบุกธุรกิจโรงภาพยนตร์ชุมชนทั้งในประเทศและต่างประเทศควบคู่กันไปในครั้งนี้  นายจาฤก กล่าวว่า ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการส่งเสริมความเป็นผู้นำในกลุ่มประเทศ AEC  จากการเป็นผู้ริเริ่มดำเนินโครงการโรงภาพยนตร์ชุมชนที่จะสามารถหล่อหลอมวัฒนธรรมอาเชียนไว้ด้วยกัน ส่งผลต่อการยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของอาเซียน และยังสอดคล้องกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี  2558  ที่จะถึงนี้ 

หลังจากออกมาเปิดตัวโรงภาพยนตร์ชุมชน กันตนา ซีนีเพล็กซ์  เข้าทำตลาด นอกจากจะช่วยให้เศรษฐกิจของแต่ละชุมชนในต่างจังหวัดมีความคึกคักแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการกระตุ้นภาพยนตร์ไทย เพราะในแต่ละปีจะมีค่ายหนังผลิตภาพยนตร์ไทยเข้าสู้ท้องตลาดประมาณ 400-500  เรื่อง ซึ่งบางเรื่องไม่มีโอกาสได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่  จากการมีโรงภาพยนตร์เกิดขึ้นน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยมีช่องทางในการนำภาพยนตร์เข้าฉายได้มากขึ้น

ปัจจุบันธุรกิจโรงภาพยนตร์ถือว่ามีความคึกคักอย่างมาก เนื่องจากปีนี้มีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้าฉายจำนวนหลายเรื่อง ขณะเดียวกันก็มีภาพยนตร์ที่ทำรายได้เกิน 200  ล้านบาท หลายเรื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ไอรอน แมน 3 , ฟาสต์ แอนด์ ฟิวเรียส 6  หรือพี่มากพระโขนง  นอกจากนี้ ยังมีหนังที่มีรายได้ระดับกลางที่ทำรายได้ประมาณ 70-80 ล้านบาทอีกหลายเรื่อง 

นอกจากนี้  การที่ผู้ประกอบการเบอร์ 1 และ เบอร์ 2 ออกมาเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของโรงภาพยนตร์เมเจอร์เองปีนี้ มีแผนที่จะเปิดให้ครบ  500  โรง จากปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์เปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ  437 โรง  เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีโรงภาพยนตร์เปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 390 โรง

ขณะที่เบอร์ 2  ในตลาดอย่างโรงภาพยนตร์เอสเอฟ นอกจากจะใช้งบ 1,000 ล้านบาท ในการเปิดโรงภาพยนตร์ใหม่จำนวน 10 สาขา จำนวน 63 โรงในปีนี้แล้ว  ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เอสเอฟ ยังมีแผนที่จะใช้งบอีกกว่า 400 ล้านบาท  ในการปรับระบบฉายจากฟิล์มเป็นดิจิตอลให้ครบ 200 โรง จาก 80 โรงในสิ้นปีนี้

การออกมากระตุ้นอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องทั้งในด้านของการขยายสาขาใหม่ และการทำกิจกรรมการตลาด ประกอบกับช่วงปลายปีจะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เข้าฉายอีกหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นต้มยำกุ้ง หรือสมเด็จพระนเรศวร ส่งผลให้คาดการณ์กันว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ในปีนี้ น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำ 25-30% สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตที่ประมาณ 15%  เนื่องจากบริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโรงหนัง  ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวน่าจะส่งผลให้สิ้นปีนี้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 5,500-6,000 ล้านบาท

 


LastUpdate 02/09/2556 16:33:10 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:39 pm