ในยามที่เราต้องการมีบ้านสักหลังหนึ่ง แน่นอนว่า ต้องมองหาธนาคารเป็นที่พึ่งเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสบายด้านสินเชื่อ ซึ่งหนึ่งในธนาคารที่คนส่วนใหญ่นึกถึงกันได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ซึ่งเปิดบริการมาจะครบรอบ 60 ปีในวันที่ 24 กันยายนนี้ ในโอกาสสำคัญนี้ ธอส. เตรียมจัดกิจกรรมพิเศษมากมาย ภายใต้แนวคิด "60 ปีแห่งการให้ เพื่อสร้างรากฐาน มีบ้านมีสุข" มุ่งเน้นสร้างโอกาสและสร้างความสุขให้คนไทย โดยมีกำหนดจัดงาน "มหกรรมธอส. 60 ปี มีบ้านมีสุข" ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2556 นี้ ณ อิมแพค ฮอลล์ 5-6 เมืองทองธานี ซึ่งถือเป็นงานมหกรรมด้านที่อยู่อาศัยครั้งยิ่งใหญ่สุดแห่งปีและรวมแคมเปญมากมายทั้งด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงินฝากดอกเบี้ยสูงและสินทรัพย์รอการขาย(NPA) พร้อมขายลดราคาพิเศษสุด
นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ ธอส.เปิดเผยระหว่างการแถลงแผนการจัดงานฉลอง 60 ว่า 60 ปีที่ผ่านมาเป็น 60 ปีแห่งการให้ แบ่งปันความสุขให้กับผู้ด้อยโอกาสได้มีบ้านอยู่อาศัย โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาช่วยเหลือประชาชนมีบ้านอยู่เป็นจำนวน 480 หลังคาเรือน ในปีนี้จะครบ 600 หลังคาเรือน ขณะเดียวกันในปีนี้ธนาคารยังมีกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม(CSR) อย่างต่อเนื่อง โดยมี 6 โครงการ 60 กิจกรรมภายใต้แนวคิด "บวร" ที่เน้นพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ บ้าน วัดและโรงเรียน ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมระดับชุมชนผ่านหลากกิจกรรม
สำหรับในงาน "มหกรรมธอส. 60 ปี มีบ้านมีสุข" ที่เมืองทองจะได้พบกับแคมเปญพิเศษหลายอย่างทั้งเงินฝากดอกเบี้ยสูงพิเศษสุด สินทรัพย์NPAที่เสนอให้กับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางในราคาพิเศษ รวมถึงโซนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 60 ราย โซนสินค้าราคาประหยัด รวมถึงโซนผู้ประกอบการหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP 5 ดาว)
ส่วนแคมเปญเด็ดอีกอย่างของงานมอบแก่ผู้ที่มีบ้านอยู่แล้ว ซึ่งจะได้รับโอกาสพิเศษเข้าถึงสินเชื่อเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน โดยธอส.เตรียมวงเงินไว้สูงถึง 10,000 ล้านบาทสำหรับโครงการสินเชื่อ "สินเชื่อปรับปรุง ต่อเติม ซ่อมแซมบ้าน" อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2 เท่ากับ 3.5% ปีที่ 3 ดอกเบี้ย 4% ปีที่ 4-10 เท่ากับ MRR -1.5% โดยวงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท โดยมีเงินงวดผ่อนชำระแสนละ 1,000 บาทนาน 10 ปี นับเป็นบริการช่วยเหลือประชาชนปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยตามพันธกิจของธนาคาร อีกทั้งเพื่อตอบสนองนโยบายของกระทรวงการคลังและรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ
ทั้งนี้สินเชื่อดังกล่าวเน้นเป้าหมายประชาชนหรือลูกค้าทั้งในเขตปริมณฑลและต่างจังหวัด โดยหลักประกันคือ บ้านหรือที่อยู่อาศัยพร้อมที่ดินที่ไม่ติดจำนองหรือปลอดภาระ ผู้ติดต่อจองก่อนมีโอกาสได้ก่อน โดยคาดว่าจะจบในสิ้นปีนี้ แต่หากมีความต้องการสูงอาจมีการพิจารณาขยายวงเงินเพิ่มอีก
ในโอกาสเดียวกันนางอังคณายังโชว์ผลงานการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2556 ณ วันที่ 30 มิถุนายนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนว่า ธอส.เติบโตต่อเนื่องมีกำไรสุทธิที่ 3,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.87% สวนกระแสเศรษฐกิจที่ราบเรียบ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3,382 ล้านบาท โดย 6 เดือนที่ผ่านมาธอส.สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 57,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,869 ล้านบาท คิดเป็น 31.67% นับว่าสูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยปล่อยกู้แก่ประชาชนไป 710,000 คน ขณะที่เป้าปล่อยสินเชื่อทั้งปีอยู่ที่ 120,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทำได้ในช่วงสิ้นปีและมียอดปฏิเสธสินเชื่อท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไม่สู้ดีไม่เกิน 10%
การปล่อยสินเชื่อได้มากดังกล่าวส่งผลให้ครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2555 ธอส.มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 721,008 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2555 จำนวน 15,004 ล้านบาท คิดเป็น 2.13% ขณะเดียวกันมีสินทรัพย์รวม 748,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,298 ล้านบาท คิดเป็น 1.67% ส่วนเงินฝากมีอยู่รวม 579,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,666 ล้านบาท คิดเป็น 1.52%
ส่วนตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) มีอยู่ 60,129 ล้านบาท คิดเป็น 8.34% ของยอดสินเชื่อรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2555 ที่มี NPLs จำนวน 54,411 ล้านบาท คิดเป็น 7.71% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้สาเหตุที่NPLsเพิ่มขึ้นมาจากกระทรวงการคลังมีนโยบายให้ธนาคารปรับปรุงการจัดชั้นหนี้ให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ให้มีการจัดชั้นหนี้ที่มีการประนอมหนี้หลังมีการพิพากษาบังคับคดีและกลุ่มที่เงินต้นไม่มีการเคลื่อนไหว ทำให้ธอส.ต้องจัดชั้นหนี้ NPLs เพิ่ม ซึ่งหากใช้เกณฑ์เดิมยอดหนี้ NPLs ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 จะอยู่ที่ 7.67% เท่านั้น ซึ่งลดลงจากสิ้นปี 2555 ที่มี 7.7% สำหรับสินทรัพย์ NPA คงเหลือจำนวน 2,117 ล้านบาท ลดลง 10.71%
ด้านนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยว่า ในเวลานี้ไทยยังไม่ได้อยู่ในภาวะที่เรียกว่า ฟองสบู่ แต่มีโอกาสอยู่ในภาวะที่เรียกว่า "โอเวอร์ซัพพลาย" ในบางพื้นที่ ในด้านที่ดินเปล่า บางพื้นที่มีราคาปรับขึ้นมาเป็นเท่าตัว เช่น ในภาคอิสานในปี 2555 แต่ในปี 2556 ชะลอตัวลงแล้วเพิ่มขึ้นระหว่าง 30-40%
สำหรับด้านที่อยู่อาศัย ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลชะลอตัวในช่วงไตรมาสที่สอง (เดือนเมษายน-กรกฎาคม) เพราะเปิดมากในปี 2555 แต่ในไตรมาสที่สามในเดือนสิงหาคมเริ่มเปิดใหม่อีก แต่ต้องแยกที่อยู่อาศัยที่พร้อมโอนและที่พร้อมสร้างออกจากกันซึ่งต้องใช้เวลาสร้าง 1-2 ปี ดังกรณีคอนโดมิเนียมมีการเปิดโครงการมากทำให้มียอดที่คนจองซื้อแล้วแต่ยังสร้างไม่เสร็จ(backlog)ต่อเนื่องถึงปี 2557-2558 สูง โดยทั่วประเทศมีตัวเลขสูงถึง 2 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดีบรรดาผู้ประกอบการเริ่มการระมัดระวังเพิ่มขึ้น เช่น มีการเพิ่มเงินดาวน์ลูกค้า ขณะที่สถาบันการเงินมีการเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการได้หันไปมองจังหวัดอื่น ๆ แทนเป็นจังหวัดระดับ 3-4 ไม่ได้มุ่งจังหวัดใหญ่ ๆ เหมือนเก่าเพราะมีภาวะโอเวอร์ซัพพลายแล้ว
ใครที่ยังไม่มีบ้านหรืออยากได้สินเชื่อที่พอจ่ายได้ อย่าลืมแวะไปงาน "มหกรรมธอส. 60 ปี มีบ้านมีสุข"ปลายเดือนนี้
ข่าวเด่น