ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ ( SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ "ความขัดแย้งในซีเรีย...ผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน" โดยดร. ศิวาลัย ขันธะชวนะ ระบุว่า สถานการณ์ในซีเรียที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันในเดือนสิงหาคมมีความผันผวนอย่างมาก ต่างจากช่วงไตรมาส 2 ที่ราคาน้ำมันดิบมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ และค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากอุปทานน้ำมันมีเพียงพอรองรับอุปสงค์ ล่าสุด สหรัฐฯ แสดงท่าทีชัดเจนที่จะใช้ปฏิบัติการทางทหารโจมตีซีเรีย เพื่อลงโทษกรณีรัฐบาลซีเรียล้ำเส้นแดง ใช้อาวุธเคมีสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ หากเกิดสงครามในซีเรียขึ้นจริง จนลุกลามบานปลายไปทั่วตะวันออกกลาง ราคาน้ำมันดิบ Brent อาจทะยานขึ้นสูงถึง $125-$150/บาร์เรล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อของไทย
สถานการณ์ในซีเรียส่งผลกระทบต่อความผันผวนของราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับระดับสูงขึ้นกว่า 15% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเหตุการณ์ในซีเรียเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น เกิดเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ ที่หลายฝ่ายต้องการให้จัดการกับรัฐบาลซีเรียขั้นเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีรัฐบาลซีเรียใช้อาวุธเคมีถล่มชานกรุงดามัสกัส เมื่อ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา สังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์ถึง 1,429 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็ก 426 คน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ตลาดเกิดความกังวลว่าอาจจะนำไปสู่การใช้กำลังทางทหารจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Brent พุ่งขึ้นถึง $9/บาร์เรล จากเมื่อต้นเดือนสิงหาคม ไปอยู่ที่ระดับ $118/บาร์เรล ภายในระยะเวลาเพียง 3 อาทิตย์ ส่วนราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ทะลุระดับ $110/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นเดือนกันยายน ราคาน้ำมันดิบกลับอ่อนค่าลง หลังประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ ออกมาแถลงว่าจะรอฟังมติจากสภาคองเกรสว่าจะบุกโจมตีซีเรียหรือไม่ นับเป็นข่าวดีว่าจะยังไม่มีสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ราคาน้ำมันจึงลดระดับลงมา
ซีเรียไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจึงไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน แต่เป็นด้านจิตวิทยา โดยปกติซีเรียมีการผลิตน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.4% ของการผลิตทั่วโลก ใกล้เคียงกับไทย แต่จากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด กับฝ่ายต่อต้านที่ดำเนินมากว่า 2 ปี คร่าชีวิตพลเรือนซีเรียไปกว่า 1 แสนคน และเมื่อปี 2011 ชาติตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตรซีเรีย ทำให้การผลิตน้ำมันดิบของซีเรียลดลงอย่างมาก จากที่เคยผลิตได้สูงสุดในปี 1996 ที่ 582,000 บาร์เรล/วัน ลดลงเหลือเพียง 157,000 บาร์เรล/วัน ในปี 2012 ซึ่งไม่เพียงพอรองรับการบริโภคภายในประเทศ ซีเรียจึงกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันในปี 2012 ดังนั้น ความผันผวนของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน (ปัจจัยด้านอุปสงค์ อุปทาน) ซึ่งความขัดแย้งภายในซีเรียเพียงอย่างเดียวจะไม่กระทบต่ออุปทานน้ำมันโลก เพราะปัจจุบันซีเรียผลิตน้ำมันดิบน้อยมาก แต่ราคาน้ำมันที่ผันผวนเกิดจากปัจจัยด้านจิตวิทยา ที่ตลาดเกรงว่าอาจจะเกิดเหตุกาณ์ความรุนแรงลุกลามไปทั่วตะวันออกกลาง กระเทือนผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก
หากซีเรียถูกโจมตีโดยสหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบ Brent อาจพุ่งสูงถึง $125/บาร์เรล แต่จะกระทบต่อราคาในระยะสั้น ท่าทีของประธานาธิบดีโอบามาต้องการโจมตีซีเรีย แม้ชาวอเมริกันส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย แต่โอบามาอ้างถึงความมั่นคงของชาติ เพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธเคมีตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย ทั้งนี้โอบามาแสดงความมั่นใจว่าสภาคองเกรสจะอนุมัติแผนโจมตีซีเรีย โดยแผนปฏิบัติการทางทหารจะเป็นการโจมตีอย่างจำกัด ไม่มีทหารเข้าไปรบภาคพื้นดินเหมือนในอิรัก และอัฟกานิสถาน ซึ่งหากสัญญาณการโจมตีซีเรียแน่ชัด ราคาน้ำมันดิบ Brent อาจพุ่งสูงถึง $125/บาร์เรล และถ้าสงครามขยายออกไปกระทบผู้ผลิต และผู้ส่งออกน้ำมันในภูมิภาค โดยเฉพาะอิรักซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ 1 ใน 10 ของโลก และมีพรมแดนติดกับซีเรีย จนเกิดวิกฤติปริมาณน้ำมันขาดแคลน เป็นไปได้ว่าราคาน้ำมัน Brent อาจทะยานขึ้นไปถึง $150/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันน่าจะเพิ่มสูงขึ้นแค่ในระยะสั้นเท่านั้น เพราะกลุ่มประเทศ OECD คงต้องมีแผนปล่อยสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) เพื่อผ่อนคลายความตึงตัวของอุปทานน้ำมันโลก
ราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของน้ำมันดิบทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่นำมาใช้ในกระบวนการกลั่นเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อย่างน้ำมันเบนซิน ดีเซล ดังนั้น ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นกรณีเกิดการโจมตีในซีเรีย จะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งอาจปรับเพิ่มขึ้น 3-4 บาท/ลิตร ซึ่งการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการขนส่งดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้า ทั้งนี้ EIC ประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2013 จะปรับขึ้น 0.2%-0.5% ไปอยู่ที่ระดับ 2.5%-2.8% ในกรณีเกิดสงครามในซีเรียจนทำให้ราคาน้ำมันดิบทะยานไปถึง $125-$150/บาร์เรล
แนวโน้มสำคัญ
โรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้าน้ำมันในประเทศ สำรองปริมาณน้ำมันเพิ่ม เพื่อลดความเสี่ยงหากเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำมัน โดยปกติตามกฎหมาย โรงกลั่นน้ำมัน และผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ต้องสำรองน้ำมันดิบ และน้ำมันเพื่อการค้า คิดเป็นสัดส่วน 5% ของน้ำมันที่ใช้ทั้งปี หรือมีปริมาณสำรอง 36 วัน หากสถานการณ์ในซีเรียมีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้นจนกระทบต่ออุปทานและราคาน้ำมันดิบโลก โรงกลั่น และผู้ค้าน้ำมันต้องเตรียมสำรองปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการบริโภคน้ำมันในประเทศ
อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ และนโยบายการเงินที่ไม่อาจลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว โดยในปี 2013 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3% ชะลอลงจาก 6.5% ในปีก่อนหน้า หากราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอีก จะยิ่งทำให้การบริโภคและการใช้จ่ายภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปได้ยาก ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ข่าวเด่น