เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 32/2556: คำว่าหนี้ไม่ว่าจะนิยามอย่างไรถ้าบริโภคจนเกินพอดี ยามนี้มันก็เสี่ยงสุดๆ


ผมได้รับรู้รับทราบจากแวดวงวิชาการและท่านผู้เกี่ยวข้องในเรื่องการแจกแจงหนี้ครัวเรือน_ทั้งที่เป็นหนี้ในส่วนที่สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้กับประชาชน หรือปล่อยกู้ให้กับครอบครัวคู่สามีภรรยา

นิยามหนี้ภาคครัวเรือน_คือ_หนี้ของบุคคลธรรมดาที่ลงทุนเพื่อซื้อทรัพย์สินที่สำคัญ คือ บ้านและรถยนต์ รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตของตนเอง ส่วนกรณีหนี้ของบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยไม่ได้จดทะเบียนการค้า แต่นำเอาสินเชื่อรายย่อยหรือสินเชื่อเพื่อการบริโภคมาหมุนเวียนเป็นทุนในการประกอบกิจการ_หรือการที่บุคคลไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเพื่อวัตถุประสงค์นำไปลงทุนค้าขายมีผู้ให้ความ เห็นว่าไม่ควรนับเป็นหนี้ภาคครัวเรือนนั้น

ในแง่ของผมเห็นว่าจะรวมหรือไม่รวมไม่น่าจะเป็นประเด็น เรื่องที่ต้องใส่ใจคือมันเพิ่มขึ้นหรือไม่ มันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่ในระยะเวลาอันสั้น ท้ายสุดเมื่อเอามันไปเทียบกับรายได้แล้ว หากว่ารายได้โตแล้วหนี้โตตามอย่างถูกสัดส่วนก็ไม่ได้มีอะไรที่น่ากังวลใจ เพราะเหตุว่าถ้าครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก_ก็มีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น แต่หากรายได้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นช้า ความสามารถในการชำระหนี้ก็ลดลงตามไปด้วย สิ่งที่พบคือหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจะเป็น 80% หรือต่ำกว่าเท่าใดก็ตาม
         

ในด้านการเปรียบเทียบรายได้ของครัวเรือนนั้น เราสามารถเทียบได้กับการเติบโตของ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ) เพราะ GDP ถือเป็นมูลค่าการผลิตของประชาชาติในประเทศทั้งหมด GDP จึงสะท้อนรายได้ของประชาชน เช่นประมาณว่า GDP โต4% บวกเงินเฟ้ออีก 2-3% เท่ากับว่าการเติบโตของเศรษฐกิจหรือมองมุมรายได้จะรวมอยู่ที่ 6-7% ซึ่งหมายความว่ารายได้โดยเฉลี่ยของประชาชาติก็น่าจะอยู่ในอัตราดังกล่าวไปด้วย สิ่งที่ทางการควรจะห่วงคืออัตราการเติบโตของหนี้มากกว่า โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรายได้ของครัวเรือนเพื่อจะได้ดูอาการของปัญหาว่าอาการประมาณไหนแล้ว
           

สิ่งที่เราๆ ท่านๆ ต้องให้ความสนใจมากๆ คือขณะนี้ครัวเรือนมีความสามารถในการชำระหนี้ที่อิงกับรายได้สัดส่วนเป็นอย่างไรแล้ว ข้อมูลจากการไปสำรวจพบว่า ภาระในการชำระหนี้นำมาหารกับรายได้ที่ได้รับมาในช่วงเวลาเดียวกัน ในภาพรวมอยู่ที่ระดับประมาณ 34% หมายความว่ามีรายได้ 100 บาทต้องเอาไปจ่ายหนี้ที่ครบกำหนด 34 บาท เหลือเอาไว้กินใช้ 66 บาท หากว่าค่าครองชีพเพิ่มขึ้น อาหารการกินเพิ่ม เกิดอุบัติเหตุเภทภัยขึ้นมาจะไปเอาส่วนไหนมาจัดการ ไม่ต้องไปไกลขนาดนั้นก็ได้หากว่ารายได้ของตัวเรา 100 บาทที่ว่านี้มีส่วนหนึ่งไม่แน่นอน เช่น มาจากการทำงานล่วงเวลา หรือโบนัสที่ไม่ได้เป็นเงื่อนไขว่าจ่ายแน่ๆ ในสภาพการจ้างแล้ว มองได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น 
เรื่องที่สำคัญยิ่งกว่านั้นและเราๆ ท่านๆ ต้องใส่ใจ คือ สิ่งที่ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยพูดไว้น่าสนใจว่า    

"ประเด็นหนึ่งที่เราเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย คือ หนี้ครัวเรือนที่ 8 ล้านล้านบาทนั้น ในส่วนที่เรากำกับดูแลจริงๆ มันแค่ครึ่งเดียว คือของธนาคารพาณิชย์ที่มียอดให้กู้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือ เช่น จากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ 2 ล้านล้านบาทและจากพวกสถาบันที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์ที่นับรวมอยู่ในกลุ่มอื่นๆ อีก 1 ล้านล้านบาท พวกนี้เราก็ดูได้ระดับหนึ่งเท่านั้น หรืออย่างสหกรณ์ที่มียอดให้กู้ 1 ล้านล้านบาทก็ถือเป็นจำนวนที่ไม่น้อย ถามว่าตรงนี้ควรมีใครมาดูแลหรือไม่” 
            

ท่านผู้อ่านจะคิดจะเห็นต่างเห็นด้วยก็ไม่เป็นไร แต่สำหรับส่วนตัวของผม ย้ำว่าส่วนตัวนะครับ...ผมหนาวยังไงก็ไม่รู้

สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


LastUpdate 06/09/2556 17:08:52 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:07 pm