มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ซึ่งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับองค์กรภาคี เครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งปีนี้มีการนำวิธีการรักษาด้วยพืชสมุนไพรและภูมิปัญญาดั้งเดิมมาโชว์มากมายเหมือนเช่นเคย ในจำนวนนี้รวมถึงการเยียวยารักษาที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมานานหลายชั่วอายุคนของหมอพื้นบ้านจากหลายจังหวัดทางภาคเหนือที่นำภูมิปัญญาของตนมาบริการรักษาและให้ความรู้ควบคู่กันไป ซึ่งสามารถเรียกความสนใจจากผู้เข้าชมงานให้หยุดชมหรือบ้างก็ขอทดสอบบ้างได้แก่ การรักษาที่เรียกว่า "ย่ำขาง" ด้วยเช่นกัน
คุณลุงสำราญ มาฟู จากจ.เชียงรายเป็นท่านหนึ่งที่เข้าร่วมโชว์การรักษาแบบดั้งเดิมดังกล่าว ซึ่งคุณลุงเปิดเผยว่า ย่ำขางเป็นวิธีบำบัดรักษาที่ใช้ภายในหมู่ทหารโบราณ ทำในยามพักรบ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อและแก้ปวดเมื่อย รวมถึงเพื่อบรรเทาอาการฟกช้ำดำเขียวของร่างกาย ต่อมาได้มีการดัดแปลงมาใช้รักษาโรคด้วย ซึ่งขณะทำพิธีจะมีคาถาพิเศษกำกับอยู่ด้วย
สำหรับคุณลุงได้รับมรดกมาจากบรรพบุรุษและปัจจุบันนอกจากบริการรักษาให้ประชาชนแล้วที่บ้านยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้ที่สนใจด้วย
"ผู้ป่วยที่มารักษาด้วยวิธีนี้มีเฉลี่ยประมาณวันละ 10 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ปวดเมื่อยแขน ขาหรือลำตัว แขนขาชา ไหล่ติด ปวดตามร่างกาย ปวดนิ้วมือ ซึ่งคุณลุงบอกว่า ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นเป็นปรกติได้จากการรักษาเพียง 3 ครั้งเท่านั้น"
ในการรักษามีการใช้อุปกรณ์หลายอย่างได้แก่ น้ำมันไพล เตาถ่านที่ลุกโชนพร้อมแผ่นเหล็กที่เป็นใบฐานไถ(ซึ่งจะต้องใช้สิ่งนี้เท่านั้น) ชุดไม้ตอกเส้น ผ้าดิบ ใบพลับพลึง แผ่นขี้ผึ้งและเขากวาง การรักษาเป็นการใช้ความร้อนเพื่อช่วยคลายเส้นที่ตึงให้เข้าสู่ปรกติ เพิ่มการไหลเวียนเลือดในร่างกาย โดยมีขั้นตอนการรักษากรณีปวดเมื่อยแขน จะเริ่มจากใช้สีผึ้งลนไฟมาทาแขนทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที จากนั้นลอกออก ตามด้วยใช้ผ้าห่อและนวดประคบด้วยสมุนไพร ใช้ใบพลับพลึงลนไฟมาพันประคบและนวด จากนั้นตอกเส้น นวดด้วยมือและเขากวาง
ส่วนการรักษาอาการปวดเมื่อยตามลำตัวพ่อหมอจะใช้เท้าจุ่มน้ำมันไพลและนาบไปบนแผ่นเหล็กใบฐานๆไถ จากนั้นนำไปนาบบนลำตัว กดทับไปบนส่วนต่างๆ จากการสอบถามผู้เขัารับการรักษาหลายคนที่ส่วนใหญ่มีอาการปวดเมื่อยพบว่า มีอาการดีขึ้น ตัวเบา สบาย แถมบางรายยังซื้ออุปกรณ์ไม้ตอกเส้นติดมือกลับบ้านไปด้วย เนื่องจากสามารถใช้ตอกตามแขนขาของตัวเองหรือตอกให้สมาชิกภายในบ้านได้ด้วย
นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาที่ไม่ต้องใช้ยาและยังจะช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาโบราณนี้ไว้ต่อไปด้วยสำหรับผู้สนใจพาคนป่วยไปรักษาหรือสนใจเรียนรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมนี้ จะไปบุกถึงถิ่นคุณลุงสำราญก็ได้ ที่บ้านเลขที่ 65 ม.4 ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด จ.เชียงราย
ข่าวเด่น