ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Insurer Financial Strength (IFS)) ทั้งสากลและในประเทศ ของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ MTL ที่ ‘BBB+’ และ ‘AA+(tha)’ ตามลำดับ แนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน มีเสถียรภาพ
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินดังกล่าว สะท้อนถึงสถานะในอุตสาหกรรมของบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง ความสามารถในการทำกำไรที่ดี รวมทั้งระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังคำนึงถึงการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้แก่ Ageas Insurance International N.V. (Ageas) (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (IDR) ที่ ‘A-’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ (IDR) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของประเทศไทย โดย Ageas ให้การสนับสนุนในด้านการดำเนินงานและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย มีความร่วมมือในด้าน Bancassurance หรือการขายประกันผ่านเครือข่ายสาขาของธนาคาร
แนวโน้มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินมีเสถียรภาพ สะท้อนความเห็นของฟิทช์ว่า บริษัทจะยังมีความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งจากการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับและการบริหารค่าใช้จ่ายที่ดี ในขณะที่คงไว้ซึ่งฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง
บริษัทยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องในปี 2555 และในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2556 จากการที่เบี้ยประกันภัยรับเติบโตอย่างมาก และค่าใช้จ่ายต่อเบี้ยประกันภัยที่ค่อนข้างคงที่ เบี้ยประกันภัยรับของบริษัทเท่ากับ 4.9 หมื่นล้านบาทในปี 2555 เติบโต 29% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่กำไรสุทธิเติบโต 41% จากการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับดังกล่าว และอัตราภาษีเงินได้ที่ลดลงจากมาตรการของภาครัฐ สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ กำไรสุทธิเติบโต 43% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยได้ประโยชน์จากเบี้ยประกันภัยรับที่เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และอัตราภาษีเงินได้ที่ปรับลดลงอีกในปีนี้ อัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นเป็น 4.7% จากระดับ 4.1% ในปี 2555
การที่บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับเติบโตสูง เป็นผลมาจากการที่อุตสาหกรรมประกันชีวิตของไทยมีการเติบโตที่ดี รวมถึงการที่บริษัทสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ทั้งนี้ เบี้ยประกันภัยรับรวมของธุรกิจประกันชีวิตไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 16.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งที่การเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง เนื่องจากการที่ประชาชนมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการประกันชีวิตมากขึ้น และการที่อัตราการทำประกันชีวิตของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ
บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดในเบี้ยประกันภัยรับรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 14% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 (2555: 12.5%) ยังคงเป็นอันดับสองรองจากบริษัท เอไอเอ จำกัด ประเทศไทย (อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินในประเทศ (IFS) ที่ ‘AAA’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดในเบี้ยประกันภัยรับรวม 24.1% อย่างไรก็ดี บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดในเบี้ยประกันภัยรับเฉพาะในส่วนเบี้ยประกันภัยรับปีแรกเพิ่มขึ้นเป็น 18.5% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 (2555: 16.6%) เป็นอันดับหนึ่งเป็นครั้งแรก ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทเป็นผู้นำในเบี้ยประกันภัยรับรวมผ่านช่องทางธนาคาร หรือ bancassurance โดยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในครึ่งปีแรกของปีนี้ ที่ระดับ 24.4% เพิ่มขึ้นจาก 22.3% ในปี 2555
นโยบายการลงทุนของบริษัทยังคงมีความเสี่ยงต่ำ โดยตราสารหนี้และเงินฝากเป็นสินทรัพย์ลงทุนหลักด้วยสัดส่วนการลงทุน 83% ของเงินลงทุนรวม ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจของไทย การลงทุนในตราสารทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 10% ณ สิ้นไตรมาส 2/2556 จาก 8.9% ณ สิ้นไตรมาส 3/2555 ซึ่งยังอยู่ในระดับ 8%-11%ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีสถานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยระดับเงินกองทุนตามกฎของประเทศไทยในการกำกับความเสี่ยงด้านเงินกองทุน (Risk-based capital – RBC) อยู่ที่ 429% ณ สิ้นไตรมาส 2/2556 เทียบกับระดับขั้นต่ำตามเกณฑ์ที่ 140% บริษัทไม่มีหนี้ และไม่มีแผนการที่จะใช้เงินกู้ยืมเป็นแหล่งเงินทุน ฟิทช์คาดว่าสถานะเงินกองทุนของบริษัทจะยังแข็งแกร่งต่อไป จากความสามารถในการทำกำไรที่ดี และการบริหารจัดการเงินกองทุนที่ระมัดระวัง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่มีผลในทางบวกต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ได้แก่ การที่ความแข็งแกร่งของเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการลดช่องว่างของบริษัทและผู้นำในธุรกิจประกันชีวิตในปัจจุบัน ได้แก่ บริษัท เอไอเอ จำกัด - ประเทศไทย โดยที่บริษัทยังสามารถคงไว้ซึ่งความมั่นคงด้านเงินกองทุนและเสถียรภาพของความสามารถในการทำกำไร
ปัจจัยที่มีผลในทางลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน ได้แก่ การที่สถานะเงินกองทุนของบริษัทปรับตัวอ่อนแอลงอย่างมาก โดยมีระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎ RBC ลดลงต่ำกว่า 180% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง หรือหากสถานะในอุตสาหกรรมของบริษัท หรือความสามารถในการทำกำไร มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ข่าวเด่น