แบงก์-นอนแบงก์
"กรุงไทย" ไล่จีบ "เอสเอ็มอีก่อสร้าง" หวังกวาดดีลปล่อยกู้ซัพพลายเชนโครงการรัฐ




 

"กรุงไทย" ลุ้นงบฯรัฐ ดันเศรษฐกิจเดิน ไล่จับดีล "เอสเอ็มอีรับงานต่อโครงการรัฐ" หวังโกยซัพพลายเชนกลุ่มเสี่ยงต่ำ มั่นใจแผนโตสินเชื่อ 7-7.5% สิ้นปีวิ่งเข้าเป้าสบาย ย้ำไม่ประมาทเช็คคุณภาพหนี้ตลอดทั้งรายย่อย-เอสเอ็มอี

 

 

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยและผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจธนาคารในช่วงโค้งท้ายของปีนี้ โดยประเมินว่าแรงผลักดันจากการใช้จ่ายของภาครัฐและโครงการลงทุนของรัฐน่าจะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้มาก จึงมองว่ากลุ่มธุรกิจขนาดเอสเอ็มอีที่เป็นซัพพลายเชนที่เข้ามารับงานแบบ sub contract จากโครงการลงทุนของรัฐอีกชั้นหนึ่ง น่าจะมีโอกาสเติบโตที่ดี และทำให้ธนาคารเข้ามาโฟกัสตลาดนี้มากขึ้น

“เรามองว่าตลาดตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะซัพพลายเชนที่มารับงานภาครัฐจะความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ ได้รับเงินค่าจ้างค่อนข้างแน่นอน ไม่ค่อยมีปัญหา จึงเข้ามาจับตลาดนี้ ส่วนการปล่อยกู้โครงการรัฐโดยตรงเราคงรักษาระดับไว้ที่ 10% เท่าเดิม”

ทั้งนี้ ธนาคารเพิ่งออกบริการพิเศษสำหรับลูกค้าเอสเอ็มที่เพิ่งเข้าประมูลงานภาครัฐ เช่น บริการออกหนังสือค้ำประกันเพื่อยื่นซองประกวดราคาได้ภายใน 1 วัน วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท โดยใช้หลักประกันเป็นเงินฝากเพียง 20% ของวงเงินในหนังสือค้ำประกัน ส่วนลูกค้าเดิมไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงเตรียมเงินสำหรับปล่อยกู้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนตลอดโครงการ โดยให้เงินทุนหมุนเวียนก่อนเริ่มทำงานสูงสุดถึง 30% ของมูลค่าโครงการและเงินทุนหมุนเวียนหลังส่งมอบงานสูงสุดถึง 90% ของมูลค่างานสุทธิในแต่ละงวด

ส่วนทิศทางการเติบโตสินเชื่อในปีนี้ เขาประเมินว่า ธนาคารน่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายการเติบโตที่ประมาณ 7-7.5% หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.5% ของอัตราขยายตัวของจีดีพี ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกสามารถขยายสินเชื่อได้ค่อนข้างดี โดยมีพอร์ตสินเชื่อ 1.65 แสนล้านบาท ขยายตัวจากปลายปีที่แล้ว 7.3% แม้ว่าทิศทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังอาจจะมีปัจจัยกระทบอยู่พอสมควร แต่ก็เชื่อมั่นว่าจะไม่กระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อให้หลุดไปจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ดังกล่าว

“ครึ่งปีหลังเราก็คงดูแลเรื่องสินเชื่อให้ละเอียดมากขึ้น คุมเรื่องคุณภาพหนี้ให้เหมาะสม และจับสัญญาณต่างๆ ให้ดี ดูเรื่องความสามารถจ่ายคืนหนี้ให้ชัดเจน ให้แน่ใจว่าลูกค้าสามารถจ่ายคืนได้ไหว เราถึงจะปล่อย บวกกับตรวจสอบข้อมูลจากเครดิตบูโร เพื่อดูภาระหนี้ที่มีอยู่ว่ามีที่ไหนบ้างมาประกอบด้วย ก็ถือว่ารัดกุม แม้ตอนนี้จะมีประเด็นเรื่องระดับของหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ก็มั่นใจว่าไม่น่ากังวลว่าจะเหมือนสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ที่ตอนนั้นยังไม่มีเครดิตบูโร การปล่อยกู้ก็จะตรวจสอบได้ยากว่าใครมีหนี้เท่าไหร่แล้ว แต่ตอนนี้ก็ถือว่าดีขึ้นมากแล้ว ความน่ากังวลต่อเหตุการณ์คงไม่เหมือนในอดีต”

เช่นเดียวกับสินเชื่อภาคธุรกิจและเอสเอ็มอี ซึ่งนายวรภัค ยอมรับว่า ปัจจุบันธุรกิจก็ค่อนข้างเข้มแข็งและมีสถานะทางการเงินที่ดี เช่นกลุ่มธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่จะมีสัดส่วนหนี้ต่อทุนค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยประมาณ 1 เท่า ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ธนาคารกรุงไทยให้ความสนใจก็จะเป็นไซส์กลางและใหญ่ ซึ่งมีความต้านทานต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง จึงไม่น่ากังวลแม้ว่าที่ผ่านมาธนาคารจะเติบโตในตลาดสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้นมากก็ตาม


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ก.ย. 2556 เวลา : 09:59:13
28-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 28, 2024, 2:41 pm