เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ทีเอ็มบี มองดอกเบี้ยระยะสั้นอาจลดได้อีกเล็กน้อย แต่ระยะต่อไปจะกลับมาเป็นขาขึ้น


TMB Analytics: จังหวะออมเงินกับทิศทางดอกเบี้ย

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอาจลดได้อีกเล็กน้อย แต่ในระยะต่อไปน่าจะกลับมาเป็นขาขึ้น แนะผู้ออมใกล้เกษียณลงเงินฝาก หรือ กองทุนตราสารหนี้สั้นๆ ไม่เกิน 1 ปี ไปก่อน   
 
ภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดูอ่อนแรง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำเฉลี่ยช่วงแปดเดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ  2.47 ทำให้มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับลงได้อีกเล็กน้อยจากปัจจุบันร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 สำหรับการประชุมที่เหลืออีกสองครั้งในเดือนตุลาคม และ พฤศจิกายนปีนี้  หลังจากนั้น TMB Analytics ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยจะทรงตัวไปจนถึงไตรมาสสามปีหน้าและจะเริ่มเป็นอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่จะปรับตัวดีขึ้น และ อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศที่กำลังปรับตัวเป็นขาขึ้นเช่นกัน     
 
 นอกจากคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวข้างต้นแล้ว  การปรับตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในตลาดรอง ก็เป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่ง ที่แสดงถึงความเป็นไปของทิศทางดอกเบี้ยในอนาคตได้  สังเกตจากสถิติที่ผ่านมา พบว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนในตลาดรองของพันธบัตรอายุ 10 ปี กับ 1 เดือน  จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสักระยะหนึ่ง (ประมาณ 1 ปี) ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งสัญญาณเป็นช่วงขาขึ้นตามมา  ซึ่ง ณ ขณะนี้ ลักษณะส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรทั้งสองดังกล่าว ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากที่เคยอยู่ใกล้ระดับร้อยละ 0 ในปี 2554 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงสามารถประเมินได้ว่า หากไม่มีสถานการณ์ผิดปกติรุนแรงจนกระทั่งกระทบกับภาวะเศรษฐกิจการเงินอย่างมีนัยสำคัญแล้ว  ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นก็จะเริ่มในราวไตรมาสสุดท้ายของปีหน้า
 

ส่วนภาวะสภาพคล่องในระบบธนาคารที่มีความโน้มเอียงตึงตัวจากยอดสินเชื่อได้เติบโตสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาจนถึงครึ่งปีแรกนี้  ยังจะอยู่ในภาวะเดิมต่อไป  แม้การปล่อยสินเชื่ออาจจะชะลอลงได้ในช่วงครึ่งปีหลัง  แต่ความต้องการเงินจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ทยอยเริ่มขึ้น  ก็จะเป็นปัจจัยดึงสภาพคล่องต่อไปได้  จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการปิดประตูดอกเบี้ยขาลง เห็นได้จากการเตรียมพร้อมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แทบทุกแห่ง ที่ไม่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
 
ปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาวะการลงทุนในสินทรัพย์ที่เคยให้ผลตอบแทนสูงๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารทุน หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ทองคำ มีความเสี่ยงทางลบมากกว่าทางบวก หรือ ยังมีความผันผวนสูงมากๆ   การเลือกลงเงินฝากหรือกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ จึงมีความน่าสนใจ  และ ผู้ออมก็สามารถทำให้การฝากเงินหรือซื้อกองทุนตราสารหนี้ มีผลตอบแทนที่มากขึ้นได้  โดยใช้เทคนิคการประเมินทิศทางอัตราดอกเบี้ย พิจารณาช่วงจังหวะในการลงทุน  ซึ่งจากการประเมินทิศทางดอกเบี้ยดังกล่าวข้างต้น  การฝากเงินหรือลงทุนตราสารหนี้ในระยะอายุครบกำหนดไม่เกิน 1 ปี ไปก่อน เพื่อรอดอกเบี้ยกลับทิศเป็นขาขึ้นอีกในราวหนึ่งปีข้างหน้า เป็นกลยุทธ์ที่สามารถนำมาใช้ได้
 
ดังนั้น หากผู้ออมหันมาติดตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะเป็นไปในอนาคต  ที่ถึงแม้บางช่วงการพยากรณ์อาจจะคลาดเคลื่อนกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไปบ้าง และ อาจทำให้จังหวะการออมไม่ได้ผลตอบแทนสูงสุดตามวัฏจักรดอกเบี้ยเสมอไป  แต่ความเสี่ยงต่อการสูญเงินต้นนั้นมีน้อยมากหรืออาจกล่าวได้ว่าไม่มีเลยหากเป็นเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายกำหนด นี้จึงเป็นกลยุทธ์เล็กๆ น้อยๆ แต่มีความหมาย สำหรับผู้ออมที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อยหรือไม่ต้องการมีความเสี่ยงต่อเงินออม โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านที่กำลังจะเกษียณอายุในปลายเดือนนี้  ว่าจริงๆ แล้ว การออมในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากๆ ก็สามารถสร้างผลตอบแทนให้ดีขึ้นได้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ก.ย. 2556 เวลา : 11:02:53
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 6:48 pm