บีโอไอเปิดผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในไทยปี 2556 ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นและรักษาระดับการลงทุนในไทย รวมถึงมีแผนขยายเพิ่มเติม โดยมีญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรปและเกาหลีใต้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ ชี้ปัจจัยสำคัญเอื้อการลงทุนในไทยได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน วัตถุดิบและอุตสาหกรรมสนับสนุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการลงทุน แต่ยังต้องแก้เรื่องปัญหาคอร์รัปชั่นและมาตรการด้านภาษีศุลกากร
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)และบริษัทไบรอัน เคฟ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมจัดงานสัมมนา “อนาคตลงทุนไทย ในสายตานักลงทุน” ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค พร้อมนำเสนอร่างผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ตามโครงการศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในไทยระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2556 โดยส่งแบบสอบถามนักลงทุนต่างชาติรวม 500 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจหลากประเภทซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอ ผลที่ได้พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นในไทยส่วนใหญ่ยังมีแผนที่จะรักษาระดับการลงทุนหรือขยายการลงทุนในไทยในช่วงปี 2556-2557 โดยมี 63% จะรักษาระดับการลงทุนในไทยและ 34% จะขยายการลงทุนในไทย ในขณะที่มีเพียง 3% เท่านั้นที่มีแผนลดระดับการลงทุนในไทย
ทั้งนี้กลุ่มนักลงทุนที่มีแผนขยายการลงทุนในสัดส่วนสูงได้แก่ ญี่ปุ่น 40% ตามด้วยจีน สหภาพยุโรปและเกาหลีใต้ซึ่งอยู่ที่ 36% เท่ากัน ส่วนนักลงทุนสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐฯและฮ่องกงเป็นกลุ่มที่มีแผนรักษาระดับการลงทุนในสัดส่วนสูง ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ยังอยากอยู่ในไทยได้แก่ เหมืองแร่ เซรามิกส์และโลหะขั้นมูลฐาน ,ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง,อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าและเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจรักษาระดับหรือขยายการลงทุนนั้น มีนักลงทุนถึง 64% ที่มองว่าไทยมีโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมเพียงพอ รองลงมาเป็นปัจจัยด้านซัพพลายเออร์ที่เพียงพอ ตามด้วยวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพียงพอ สิทธิประโยชน์ในการลงทุนและความต้องการของตลาดในประเทศที่มีอยู่สูง
มีนักลงทุนต่างชาติเพียง 14% เท่านั้นที่มีแผนลงทุนในต่างประเทศ ขณะที่ 86% ไม่มีแผนไป ซึ่งในส่วนที่จะไปนั้นมองอินโดนีเซียเป็นอันดับ 1 ตามด้วยเวียดนาม พม่าและมาเลเซีย แต่หากเทียบปัจจัยที่เอื้อต่อการลงทุนของไทยกับประเทศอื่น ๆ แล้วพบว่า ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติยังมองไทยเหนือกว่าอีกหลายประเทศ เป็นรองเฉพาะสิงคโปร์เท่านั้นในกลุ่มสมาชิกของอาเซียน ตามด้วยเวียดนาม มาเลเซียและฟิลิปปินส์ แต่ถ้าเป็นนอกกลุ่มอาเซียนไทยยังตามหลังญี่ปุ่นและจีน แต่เหนือกว่าอินเดีย
สำหรับมาตรการภาครัฐที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ได้แก่ ปัญหาการคอร์รัปชั่นและมาตรการปรับปรุงระบบภาษีศุลกากร ซึ่งสะท้อนถึงภาครัฐและบีโอไอที่จะต้องพิจารณาแก้ไขปรับปรุงต่อไป อย่างไรก็ดีนักลงทุนต่างชาติยังพึงพอใจภาพรวมการบริการของบีโอไอ โดยเฉพาะชื่นชมระบบการให้บริการออนไลน์ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายแก่นักลงทุนเป็นอย่างมาก
ส่วนผลการสัมภาษณ์นักลงทุนในเชิงลึกอีก 21 บริษัทได้ผลสอดพ้องกันกับผลการตอบแบบสอบถาม 500 รายในแง่ของการบริการของบีโอไอและโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่า แรงงานทักษะต่ำยังไม่เพียงพอ ขณะที่ส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นในเสถียรภาพของรัฐบาล แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในไทยก็ตาม อีกทั้งไม่เชื่อมั่นในมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ซึ่งมีความเห็นว่า ต้องมีมาตรการมารองรับ
สำหรับในประเด็นการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) นั้นนักลงทุนต่างชาติในไทยมองเออีซีเป็นโอกาสที่ดี แต่ภาครัฐยังไม่มีมาตรการมารองรับที่เหมาะสมหรือเพียงพอ และหากจะไปลงทุนส่วนใหญ่สนใจจะไปลงทุนที่เวียดนาม เนื่องจากมีค่าแรงต่ำกว่าไทย ทักษะแรงงานเป็นที่น่าพอใจ มีศักยภาพในการขยายตลาดและมีความมั่นคงทางการเมือง รองลงมาได้แก่ พม่า แต่ยังติดที่มีปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองและกฎระเบียบ
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการบีโอไอเปิดเผยว่า แนวโน้มนักลงทุนรายใหญ่ของไทยได้แก่ ญี่ปุ่น ซึ่งมีการลงทุนประมาณ 30-40% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 50% หลายบริษัทใช้ไทยเป็นฐาน ในเวลานี้หากชั่งน้ำหนักแล้วพื้นฐานของประเทศไทยยังดี แต่ในระยะยาวต้องให้น้ำหนักกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับเกณฑ์ในการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในอนาคตจะให้ความสำคัญความเป็นไฮเทคโนโลยีเป็นสำคัญ อาทิ ด้านไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ยังเน้นอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาหรือเป็นนวัตกรรมและเป็นอุตสาหกรรมหรือสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ เช่น ยานยนต์ เป็นต้น
ด้านมร.เซยา ซูเกะงาวา รองประธานและนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(JETRO) ชี้จุดด้อยไทยคือ ด้านภาษีหรือพิกัดภาษีศุลกากรที่ไม่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยยกตัวอย่าง กรณีเคยมีการปรับเนื่องจากไม่ขออนุญาตนำเข้าสินค้าเป็น 4 เท่าของมูลค่าสินค้าที่นำเข้ามา ทั้งที่มีการปล่อยให้นำเข้ามานับปีโดยไม่แจ้งเตือนหรือบอกกล่าวให้นักลงทุนทราบ รวมถึงขั้นตอนการทำที่กินเวลานาน การส่งเสริมให้นักลงทุนขยายธุรกิจโดยไปค้าขายกับต่างประเทศ ไม่ใช่ผลิตอย่างเดียวและหากจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ควรมีการวางแผนล่วงหน้าเป็นระยะยาว ดีกว่าเปลี่ยนแปลงกะทันหัน เพราะไม่สามารถปรับการลงทุนได้ทัน
ข่าวเด่น