การตลาด
ศูนย์องค์ความรู้ลักชัวรี่ ซีพีออลล์เปิดหลักสูตรปั้นบุคลากรมืออาชีพ ปูทางไทยฮับแบรนด์หรูใน AEC


สินค้าแบรนด์เนมหรูหรา ซึ่งมักเป็นแบรนด์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอางหรือเครื่องประดับ ต้องยอมรับว่า เป็นที่โปรดปรานของหลาย ๆ คน โดยเฉพาะในกลุ่มนักช็อปกระเป๋าหนัก หรือแม้แต่กลุ่มที่มีรายได้พอประมาณทว่าชื่นชอบจริง ๆ ก็ยังยอมเจียดเงินรายได้ของตนเพื่อซื้อหาบ้างเป็นครั้งคราว ตลาดสินค้าหรูหราในสายตาของผู้เชี่ยวชาญจึงยังมีอนาคตที่สดใสและโอกาสทางธุรกิจยังมีอยู่มากในยามที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านกำลังก้าวรวมเป็นตลาดเดียวกันสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อนำไทยเป็น ศูนย์กลางหรือ“ฮับ” ของตลาดสินค้าแบรนด์หรู

 Luxuryas non-nescessoryเป็นหนึ่งในนิยามของสินค้าแบรนด์หรู ที่ถูกมองว่า เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย หรูหรา ราคาแพงและดูเกินความจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันเป็นสิ่งที่บางคนถวิลหา เป็นหน้าตาและเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคม ซึ่งแบรนด์ดังส่วนใหญ่มีถิ่นกำเนิดในยุโรป ปัจจุบันตลาดด้านนี้กำลังเติบโตในไทยท่ามกลางการเติบโตของเศรษฐกิจเพื่อนบ้านและภูมิภาค การท่องเที่ยวบูม โดยการซื้อสินค้าแบรนด์หรูคิดเป็นประมาณ 73% ของการจับจ่ายซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีประมาณ  15 ล้านคนต่อปี คิดเป็นมูลค่าราว 14.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 
ดร.ฐิติพร สงวนปิยะพันธ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์องค์ความรู้ด้านลักชัวรี(LUXELLENCE CENTER) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ภายใต้การบริหารของบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันสินค้าแบรนด์หรูหลายประเภทต่างหลั่งไหลเข้าตลาดเอเชีย รวมถึงไทย เนื่องจากเทรนด์กลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ในเอเชียมีแนวโน้มเติบโต ทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าลักชัวรีแบรนด์ มีการปรับสินค้าให้สอดคล้องกับลูกค้าในเอเชียมากขึ้น ซึ่งการก้าวสูงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน( AEC) ในปี 2558 จะเป็นโอกาสดีของไทยที่จะเป็นศูนย์กลางตลาดสินค้าแบรนด์หรู
 
 
โอกาสไทยเป็น “ฮับ” แบรนด์หรู
ดร.ฐิติพรชี้ว่า แนวโน้มตลาดในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ตลาดลักชัวรีแบรนด์จะมุ่งมายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากตลาดในอเมริกาอิ่มตัวแล้ว ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดแบรนด์หรูในประเทศไทยมีการขยายตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน เห็นได้จากศูนย์การค้าไทยมีการปรับพื้นที่เพื่อรองรับร้านค้าแบรนด์หรูเป็นจำนวนมาก ควบคู่กับการมีแบรนด์ใหม่ ๆ มาเปิดเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มพื้นที่และสาขาของผู้ประกอบการรายเดิม แสดงให้เห็นว่า ตลาดลักชัวรีแบรนด์ ในไทยมีการเตรียมพร้อมรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าและสอดรับกับตลาดแบรนด์หรูเอเชียที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นที่จับตามองของกลุ่มนักลงทุนต่าง ๆ
ทั้งนี้อาเซียนที่จะรวมตัวเป็นตลาดเดียวกันสู่ AEC จะเป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่มีประชากรใหญ่มากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและอินเดีย อยู่ที่ประมาณ 600 ล้านคน โดยมีมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี(GDP) ราว 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สิงคโปร์มีขนาด GDP ใหญ่สุดที่ 277 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีรายได้ต่อหัว 51,00 ดอลลาร์สหรัฐต่อหัว ตามด้วยบรูไน มาเลเซียและไทย ดังนั้นในกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่อหัวสูงของแต่ละประเทศจึงเป็นโอกาสของธุรกิจแบรนด์หรูด้วยเพราะคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อเพิ่มพอที่จะสำหรับจับจ่ายสินค้าแบรนด์หรูได้
หากถามว่า ไทยมีโอกาสจะเป็น “ฮับ” ได้หรือไม่?  คำตอบ คือ มีโอกาสสูง  
เพราะนอกจากปัจจัยเรื่องกำลังซื้อแล้ว ไทยยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่พอแข่งขันได้ ได้แก่ เรื่องของการเปิดตลาดในการทำธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งไทยมีการเปิดตลาดค่อนข้างสูง  ด้านโลจิสติกส์ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน  เช่น นอกจากมีห้างหรูแล้วยังต้องมีการคมนาคมที่สะดวกสบาย ช่องทางการเดินทาง ด้านอสังหาริมทรัพย์หรือที่พักอาศัย เมื่อมาเที่ยวแล้วมีที่พักอาศัยอยู่สบาย
“มาเลเซีย-เวียดนาม” คู่แข่งใหญ่
 ในขณะนี้หากหันมาดูพื้นที่โดยรอบนับว่ามี 2-3 ประเทศที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญเพื่อช่วงชิงการเป็นศูนย์กลางของตลาดแบรนด์หรูได้แก่ มาเลเซียและเวียดนาม
โดยเฉพาะมาเลเซียที่รุกหนัก โดยมีการยกระดับการเป็น “ฮับ” ตลาดแบรนด์หรูเป็นวาระแห่งชาติ ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐโดยมีการผุดห้างหรูหราขึ้นมากมาย มีการประชาสัมพันธ์ประเทศของตัวเองใช้ชื่อว่า Luxury Malaysia กระตุ้นพฤติกรรมการซื้อสินค้าหรู ลดภาษีนำเข้าแทบจะเป็นศูนย์เพราะเน้นการจะเป็นศูนย์กลางจริง ๆ ทำให้เป็นที่สนใจของผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อนำนักท่องเที่ยวที่เป็นนักช็อปเข้ามา เช่น นักท่องเที่ยวชาวจีนและตะวันออกกลาง เป็นต้น นอกจากนี้การมีวัฒนธรรมที่หลากหลายเอื้ออำนวย
“ผู้ซื้อแบรนด์หรูหลัก ๆในมาเลเซีย เช่น บรรดาแม่บ้านที่เป็นมุสลิมจะออกมาซื้อพวกกระเป๋า รองเท้าและนาฬิกา แต่ด้านเสื้อผ้าจะขายได้ยากกว่าเพราะมีข้อจำกัดด้านศาสนา สภาพอากาศที่ร้อน สไตล์การซื้อจะเป็นแนวอนุรักษ์นิยม มักซื้อสินค้าคงทน ใช้ได้บ่อยกว่า คุ้มค่าแก่การลงทุน”
สำหรับ “เวียดนาม”เป็นคู่แข่งที่ไม่น่ากลัวนัก เนื่องจากมีการนำเข้าแบรนด์หรูมาก ในขณะที่ประชากรยังมีรายได้ต่ำ ทำให้รัฐบาลเวียดนามเริ่มกังวลและมองว่า ประชากรยังไม่มีความพร้อมที่จะใช้สินค้าด้านนี้ จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตรัฐบาลเวียดนามอาจมีมาตรการคุมเข้มตั้งกำแพงภาษีนำเข้า
“ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไทยที่จะแข่งขันได้ หากนำข้อได้เปรียบที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันมาทำให้เกิดประโยชน์ โดยไทยได้รับขนานนามว่า เป็น “ฮับ” ของการท่องเที่ยว ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว หรือ Thailand is the most popular tourist destination   โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ  1 แซงหน้านครนิวยอร์กของสหรัฐและสิงคโปร์
แต่สิ่งที่ต้องทำกันต่อไปคือ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวที่มาแล้ว มีการจับจ่ายซื้อสินค้าสูงด้วย เหมือนที่ไปญี่ปุ่นหรือนิวยอร์กที่นักท่องเที่ยวไปแล้วมีการใช้จ่ายสูง นั่นเอง”
ดัน “หลักสูตรปั้นนักบริหารแบรนด์หรูมืออาชีพ”
ดร.ฐิติพร เปิดเผยว่า การจะผลักดันให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลางตลาดแบรนด์หรูได้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องช่วยกัน รวมถึงด้านการศึกษา ในขณะนี้ศูนย์องค์ความรู้ลักชัวรี่ ซีพีออลล์ได้เป็นส่วนหนึ่งช่วยผลักดันด้วยการเปิดหลักสูตรทางด้าน LUXURY BRAND MANAGEMENT”  เพื่อเพิ่มความเชี่ยวชาญของคนไทยในด้านสินค้าแบรนด์หรูและเพิ่มประสิทธิภาพด้านภาษาอังกฤษ เนื่องจากบุคลากรของไทยยังด้อยกว่าในด้านภาษาอังกฤษ เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ เวียดนามที่เคยอยู่ในการปกครองของต่างประเทศจึงมีทักษะด้านภาษาอังกฤษได้ดีกว่า การเพิ่มความรู้ด้านนี้จึงลดความเสี่ยงโอกาสที่คนต่างชาติจะมาแย่งงานหลัง AEC ได้อีกทาง
หลักสูตรดังกล่าวนับว่าเป็นด้านการบริหารสินค้าแบรนด์หรูที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย โดยศูนย์องค์ความรู้ลักชัวรี่ร่วมมือกับสถาบัน International Fashion Academy (IGS)ในนครปารีสของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสถาบันออกแบบแฟชั่นชั้นนำของโลก โดยตามหลักสูตรนักศึกษาจะได้เรียนใน 3 ประเทศ ได้แก่ นครเซี่ยงไฮ้ของจีน กรุงปารีสของฝรั่งเศสและที่กรุงเทพฯของไทยแห่งละ 3 เดือนเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างใน 3 ประเทศเพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้เป็นสากลป้อนตลาดที่กำลังเติบโต ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ธุรกิจลักชัวรีแบรนด์ของไทยก้าวสู่เวทีการแข่งขันระดับนานาชาติได้
ทั้งนี้การเรียนการสอนจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด มีการประเมินผลและเป็นแนวการศึกษาระดับปริญญาโทมากขึ้น มีการทำรายงานและรายงานหน้าชั้นเรียน ซึ่งห้องหนึ่งจะรับนักศึกษาเพียง 12-20 คน โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 640,000 บาทตลอดหลักสูตร รวมค่าเดินทางและที่พักเรียบร้อย หลังจบการศึกษาแล้วจะได้วุฒิการศึกษาประกาศนียบัตรชั้นสูงจากฝรั่งเศส
“หลักสูตรนี้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ที่สนใจอยากจะทำงานในธุรกิจสินค้าแบรนด์หรูที่กำลังเติบโตอย่างมากในไทย และทั้ง  3 ประเทศในหลักสูตรล้วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์หรู โดยจีนถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตด้านการบริโภคสินค้าหรู ส่วนฝรั่งเศสเป็นจุดเริ่มต้นของสินค้าลักชัวรีแบรนด์ดังจำนวนมาก รวมถึงไทยที่นักศึกษาจะต้องกลับมาทำงาน ซึ่งทางศูนย์ฯได้มีการสร้างเครือข่ายรองรับ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้สอน วิทยากรพิเศษและสถานที่ฝึกงานในอนาคต ที่ผ่านมานักศึกษารุ่นแรกได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ผู้ที่เรียนจบสาขานี้จะเป็นบุคลากรที่ต้องการในไทยและภูมิภาคอย่างแน่นอน”
เวลานี้อยู่ระหว่างรับสมัครนักศึกษารุ่นที่ 2 ผู้สนใจหลักสูตรใหม่นี้สามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ที่ www.luxellencecenter.com หรือ Facebook : facebook.com/luxellencecenter
 
 
 
 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ย. 2556 เวลา : 12:24:53
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:51 pm