เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"เมียนมาร์ : แม่เหล็กแห่งใหม่ในภูมิภาค"




ต้องยอมรับว่า ในโอกาสที่ไทยและประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน(ASEAN)จะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ซึ่งจะรวมเป็นตลาดเดียวกัน เกิดการถ่ายเทหรือโยกย้ายการลงทุนภายในกลุ่มสมาชิก กลุ่มประเทศ CLMV ถูกหมายปองเป็นพิเศษในฐานะแหล่งลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะ “สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์” ที่เพิ่งเปิดประเทศและกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบรวมศูนย์สู่การเป็นระบบตลาดอย่างแท้จริง เมียนมาร์จึงเป็นโอกาสในการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมของไทยด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้นักลงทุนจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจด้านกฎหมาย ระเบียบ การลงทุน ตลอดจนด้านสังคมและวัฒนธรรมอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสี่ยงเป็นการลงทุนที่ล้มเหลว

เมียนมาร์แหล่งทรัพยากร-แรงงานถูก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา(องค์การมหาชน) หรือ ITD ได้จัดการสัมนาหัวข้อ “เมียนมาร์ : แม่เหล็กแห่งใหม่ในภูมิภาค” ณ โรงแรมโนโวเทล เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ พร้อมนำเสนอผลวิจัยเรื่อง “โอกาสการลงทุนของอุตสาหกรรมไทยในสหภาพเมียนมาร์” ที่มีดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการวิชาการของ ITD เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย นับเป็นการศึกษาชิ้นแรกที่ครอบคลุมเรื่องความคิด สังคม ประเพณี วัฒนธรรมและกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ของเมียนมาร์ ปี  2555 ที่เป็นประเด็นสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการลงทุน สำหรับให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนใช้เป็นแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์ในการลงทุน รวมถึงการผลิต การตลาดหรือขยายขอบเขตการค้าในเมียนมาร์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งผลที่ได้สะท้อนให้เห็นว่า พม่าให้โอกาสในการลงทุนหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม เนื่องจากราคาที่พักปัจจุบันสูงลิ่วจากปริมาณที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ และด้านอื่น ๆ  โดยมีปัจจัยหลายอย่างเอื้อต่อการลงทุนรวมถึงสัดส่วนประชากรในวัยแรงงานสูงและค่าแรงที่ต่ำกว่า  

ทั้งนี้เมียนมาร์เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนานแม้จะไม่ราบรื่นนัก แต่ก็เป็นเพียงอดีตกาล โดยเมียนมาร์มีขนาดใหญ่กว่าไทยหรือประมาณ 1.3 เท่าของไทย พื้นที่ราวครึ่งหนึ่งเป็นภูเขา มีพื้นที่ราบลุ่มอยู่ตอนกลางของประเทศพร้อมแม่น้ำสำคัญหลายสายทำให้กลายเป็นแหล่งเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนส่วนใหญ่ของประชากรจำนวน  64 ล้านคนที่ใกล้เคียงกับไทย  ที่สำคัญพม่ายังมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบและทรัพยากรทางทะเล

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ นิกายเถรวาทหรือหินยานร้อยละ 89%  มีชนเผ่าต่าง ๆ มากมายถึง 135 ชนเผ่า โดยมีเชื้อชาติหลัก   8 กลุ่ม ได้แก่ พม่า ไทยใหญ่ กะเหรี่ยง ยะไข่ จีน มอญและอินเดีย ใช้ภาษาพม่าและอังกฤษเป็นหลักในการติดต่อธุรกิจการค้า มีประชากรในวัยแรงงานสูงถึง 67.5%  ขณะที่รายได้ต่อหัวเพียง 592 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีหรือเฉลี่ยเพียง 1-2 ดอลลาร์ต่อวันเท่านั้น

ในโอกาสที่อาเซียนจะก้าวสู่ AEC  ทำให้ไทยมีโอกาสจะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านนี้เพิ่มขึ้นได้เหมือนชาติอื่น ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเมียนมาร์เป็นประเทศคู่ค้ากับไทยอยู่แล้ว โดยอยู่ในอันดับ 6  ซึ่งไทยส่งออกไปพม่าเป็นมูลค่า 2,845.90 ล้านดอลลาร์ในปี  2555 และนำเข้าสินค้าจากเมียนมาร์  3,485.80 ในปีเดียวกัน ขณะที่การค้าชายแดนมีมูลค่าสูงถึง 157,591 ล้านบาทจากข้อมูลปี  2554 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมียนมาร์มีศักยภาพสูงที่จะเป็นแหล่งกระจายสินค้าส่งออกของไทย ไม่นับการลงทุนในด้านอื่น ๆ  ส่วนการลงทุนของไทยในเมียนมาร์เดิมเป็นอันดับ 2 ที่สัดส่วน 22.73%  รองจากจีน ที่มีสัดส่วนการลงทุน 33.69%  โดยไทยลงทุนด้านพลังงานสูงสุด ตามด้วยอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยวและโรงแรม  ประมงและปศุสัตว์ เหมืองแร่ การขนส่ง น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อสังหาริมทรัพย์และเกษตร

สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน-เอื้อทำธุรกิจ

การวิจัยซึ่งเป็นทั้งการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการถึงเหตุจูงใจให้ลงทุนและอุปสรรคในการลงทุนและเปรียบเทียบข้อมูลสถิติต่าง ๆ ระหว่างเดือนมีนาคม 2554-กรกฎาคม  2556 พบว่า ปัจจัยที่เอื้อต่อการเข้าไปลงทุนในเมียนมาร์มีหลายอย่าง เช่น บรรยากาศด้านการเมืองดีขึ้น โดยรัฐบาลทหารเมียนมาร์ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี หลังจากถูกกักขังไร้อิสรภาพมานานถึง  15 ปี การเกษียณตัวเองของผู้บัญชาการทหารสูงสุด การเจรจาสงบศึกกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยและปรับตำแหน่งคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่และปลดล็อคถอดชื่อคนที่เคยถูกขึ้นบัญชีดำว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น

ขณะเดียวกันรัฐบาลเมียนมาร์ยังมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ การประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ เร่งส่งเสริมให้เศรษฐกิจโต โดยตั้งเป้าให้เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของ GDP ภายใน  5 ปี อีกทั้งยังมีแผนสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเป็นระยะยาวถึง 30 ปี(2534-2563) ซึ่งไม่เคยปรากฎในประเทศอื่น ๆ โดยมียุทธศาสตร์ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรหรือเกษตรแปรรูป การผลิตเครื่องจักรและชิ้นส่วน

นอกเหนือจากนั้นยังมีการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบการขนส่งในประเทศ ทั้งถนน รถไฟ ท่าเรือขนส่งระหว่างประเทศและสนามบิน แม้ยังต้องพัฒนาอีกมากก็ตาม

ส่วนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกอย่างเห็นได้จากสาระสำคัญในกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่  2555  มีดังนี้คือ 1.ไม่จำกัดเงินลงทุนขั้นต่ำ 2. จะลงทุน 100% หรือร่วมทุนตามสัดส่วนที่จะตกลงกันก็ได้ 3.ให้เช่าที่ดินจากรัฐบาลหรือเอกชนได้นาน 50 ปี โดยขยายได้อีก  2 ครั้ง ๆ ละ 10 ปี รวมเช่าได้สูงสุด 70 ปี 4. ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา  5 ปีและถ้านำกำไรมาลงทุนต่อจะได้รับยกเว้นภาษีรายได้ในส่วนนั้นอีก  1 ปีรวมถึงสิทธิพิเศษด้านภาษีอื่น ๆ นอกจากนี้การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย จะได้รับสิทธิพิเศษตามกฎหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวด้วย 5. ด้านแรงงานในช่วง  2 ปีแรกจะต้องมีการจ้างแรงงานสัญชาติเมียนมาร์ในสัดส่วนอย่างน้อย 25% ของการจ้างงานทั้งหมด ปีที่ 4 ให้เพิ่มเป็น 50% และปีที่ 6 ให้เพิ่มเป็น 75% ส่วนงานที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญ ต้องให้สิทธิ์แก่ชาวเมียนมาร์และต่างชาติทัดเทียมกัน

6.การโอนเงินผลกำไร ผู้ลงทุนสามารถโอนเงินผลกำไรหลังหักภาษีไปต่างประเทศได้ และ7. ด้านบทลงโทษ กรณีที่นักลงทุนได้กระทำการขัดต่อกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นหรือระเบียบหรือคำสั่งอื่นใด การลงโทษจะมีการจัดลำดับชั้นจากเบาไปหาหนัก เริ่มจากการตักเตือน พักสิทธิพิเศษเป็นการชั่วคราว เพิกถอนใบอนุญาตลงทุน ไปจนถึงการขึ้นบัญชีดำ

ทั้งนี้เมียนมาร์ยังได้กำหนดพื้นที่พิเศษสำหรับนักลงทุนต่างชาติเป็น  3 เขตด้วยกัน ได้แก่ 1.เขตนิคมอุตสาหกรรม ที่มีอยู่ 18 แห่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงย่างกุ้ง, 2.เขตเศรษฐกิจพิเศษมี  3 แห่งคือ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เมืองทวายรัฐตะนาวศรี เขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะรัมรีหรือจ๊อกผิ่ว เมืองจ๊อกผิ่ว รัฐยะไข่และเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา กรุงย่างกุ้ง และ3.เขตนิคมอุตสาหกรรมในบริเวณชายแดน ซึ่งรัฐบาลเมียนมาร์ให้ความสำคัญมากเพื่อหวังให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเป็นการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่รอบนอกกรุงย่างกุ้ง

สำหรับพื้นที่ชายแดนที่มีเป้าจะใช้พัฒนาเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมที่ติดชายแดนไทยและเป็นโครงการความร่วมมือของไทยและเมียนมาร์มี 3 แห่งได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเมาะลำไย รัฐมอญ อยู่ใกล้ชายแดนไทยบริเวณอ.แม่สอด จ.ตาก,เขตอุตสาหกรรมเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง อยู่ตรงข้ามกับอ.แม่สอดและเขตอุตสาหกรรมเมืองผาอัน เมืองหลวงของรัฐกะเหรี่ยง

อนาคตรุ่ง แต่เตือน“การลงทุนมีความเสี่ยง”

ดร.วัชรัศมิ์ รองผู้อำนวยการวิชาการของ ITD เปิดเผยว่า “การลงทุนในเมียนมาร์มีทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยด้านปัจจัยบวกนั้น เมียนมาร์จะเป็นแหล่งผลิตที่ดีเนื่องจากมีประชากรในวัยแรงงานสูงถึง 60-70% เทียบกับไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  นอกจากนี้การเคลื่อนไหวสำคัญจากประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ เช่น การเดินทางเยือนของประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐ ตามด้วยนางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐและในช่วงต้นปีประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ของเมียนมาร์เองยังได้เดินทางไปเยือนยุโรปเป็นครั้งแรก กระทั่งต่อมาสหรัฐ สหภาพยุโรป(EU) ได้ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า ด้านญี่ปุ่นยกเลิกหนี้และให้เงินช่วยเหลือ สิ่งเหล่านี้เป็นการสื่อให้เห็นว่า “เมียนมาร์” จะเป็นแหล่งการค้าหรือเป็น “แม่เหล็ก” ที่สำคัญในอนาคตนั่นเอง”

อย่างไรก็ตาม ดร.วัชรัศมิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยลบหรือความเสี่ยงในการลงทุนยังมีอยู่บ้าง โดยพบว่า กฎหมายการลงทุนปี  2555 ยังไม่มีความชัดเจน ยังต้องมีการออกกฎหมายลูกมารองรับเพิ่มเติม เช่น กฎหมายเกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาค่าเช่าที่ดินยังแพงมาก การติดต่อสื่อสารไม่สะดวก ค่าโทรศัพท์แพงและระบบสาธารณูปโภคยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เช่น ปัญหาด้านไฟฟ้าและประปาไม่เสถียร การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและยังมีความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธุ์

“ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าสนใจไปลงทุนได้แก่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรม เช่น ในเมืองมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง โดยเฉพาะด้านโรงแรมถือเป็นธุรกิจน่าสนใจที่สุด เพราะค่าห้องพักมีราคาสูงมาก เดิมมีราคาไม่ถึง  5 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังมีการเปิดเสรีการลงทุน ราคาพุ่งไปเป็นกว่า  300 ดอลลาร์และซัพพลายขาดแคลนมาก ด้านสิ่งทอ แปรรูปการเกษตรและภาคการเงิน  

ขณะเดียวกันสาเหตุหนึ่งที่ผู้ประกอบการมองหาการลงทุนใหม่ ๆ เกิดจากค่าแรงในไทยปรับสูงขึ้น  แนวโน้มที่น่าห่วงคือ แรงงานที่อยู่ในไทย หากกลับไป อาจทำให้ไทยได้รับผลกระทบได้ เพราะงานที่แรงงานเมียนมาร์ทำ เป็นงานที่คนไทยไม่อยากทำ ค่าแรง 300 บาทจะช่วยดึงให้แรงงานเหล่านี้อยู่ได้ในระยะสั้นเท่านั้น ในขณะที่ทางเมียนมาร์ส่งสัญญาณแล้วว่า ถ้ามีการลงทุนมาก ความต้องการแรงงานจะมากขึ้นตาม”

แนะภาครัฐให้ข้อมูลเอกชน

โดยภาพรวมกล่าวได้ว่า แม้มีโอกาสในการลงทุน แต่จำเป็นต้องศึกษาลู่ทางการลงทุนอย่างรอบคอบ ทางคณะผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้ภาครัฐต้องให้ข้อมูลแก่ภาคเอกชนและนักลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และนอกจากข้อมูลด้านกฎหมาย ระเบียบ พื้นที่ลงทุนแล้ว ยังต้องให้ความรู้ด้านสังคม วัฒนธรรมควบคู่กันไปด้วย เช่น เมียนมาร์เป็นเมืองพุทธ นับถือศาสนาพุทธ ที่มีประเพณีวัฒนธรรมอิงศาสนาคล้ายของไทย และไม่นิยมประเพณีของตะวันตก แม้เมียนมาร์จะเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อนก็ตาม

นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาเมียนมาร์ ไว้บ้างควบคู่กับภาษาอังกฤษ การระมัดระวังการแต่งกายเรียบร้อยสุภาพเมื่อต้องติดต่อสื่อสารและศึกษาทำความรู้จักบุคคลสำคัญ ๆ ของท้องถิ่น เพราะการทำธุรกิจนอกจาก “Know-how” แล้ว จำเป็นต้องรู้จัก “Know-who” ด้วยเช่นกันซึ่งจะช่วยลดอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้มาก 

สิ่งสำคัญอีกอย่างที่อาจารย์ตูชาร์ นวย แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงเสนอแนะนักลงทุนหรือนักท่องเที่ยวไทยคือ“ อย่าพูดถึงอดีตที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่เราเรียนรู้จากตรงนั้นได้ว่าเพราะอะไร”

เป็นแนวคิดที่ดี ลืมความบาดหมางในอดีต แล้วเปิดมุมมองใหม่

มิงกะลาบา….. สวัสดี เมียนมาร์ …..

 

 

 

 

 

 

 

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2556 เวลา : 23:55:29
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:06 pm