เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
CIMBประเมินเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดQ 3 ฟื้นตัวQ4 ทั้งปีโตช้าเพียง 2.8%




ซีไอเอ็มบีคาดเศรษฐกิจถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส3 ผงกหัวขึ้นได้ไตรมาส 4 แต่ทั้งปีโตอืดเพียง  2.8% และ 3.4% ปีหน้า ชี้ปัจจัยหนี้ครัวเรือนกระชากการบริโภคหดตัวทำเอกชนลงทุนหดหาย แถมยังเสี่ยงจากมีเงินไหลออกเมื่อต่างชาติลดลงทุนตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ รวมโอกาสที่สหรัฐฯจะลดมาตรการ QE กลางปีหน้าเพื่อคุมการเก็งกำไรในตลาดบ้านมือสอง


ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)และดร.อมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยงสำนักวิจัย ธนาคารฯเปิดเผยการประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังและปีหน้าว่า เศรษฐกิจไทยใกล้ถึงจุดต่ำสุดในไตรมาสที่สามและจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่สี่จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเบาบาง โดยปี 2556 ประมาณการเศรษฐกิจไทยจะโตเล็กน้อยที่ 2.8%และโตประมาณ 3.4% ในปีหน้า

ดร.อมรเทพกล่าวว่า สิ่งที่กังวลว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าเนื่องจากการบริโภคที่ชะลอลง เพราะเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาขับเคลื่อนไปได้โดยมีการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ ผลจากในปี 2555 รัฐบาลออกมาตรการต่างๆมากระตุ้นและเร่งตัวแรง ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น เหลือเงินหลังหักผ่อนหรือจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้านรถยนต์และสินเชื่อบริโภคส่วนบุคคล จึงทำให้การบริโภคลดลง การออมลดลง เมื่อมีการบริโภคน้อยลงจึงมีผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนน้อยลงตามไปด้วย 
  
นอกจากนี้การจะหวังพึ่งพาด้านการส่งออกเหมือนเดิมทำได้น้อย ผลจากเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งสอดพ้องกับที่ดร.บันลือศักดิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป(อียู)และญี่ปุ่นที่รวมเรียก G3และจีน มีเพียงสหรัฐฯเท่านั้นที่ฟื้นตัวได้ค่อนข้างมั่นคง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯจะโตราว 2.7% เพราะได้แรงหนุนจากตลาดบ้านฟื้น แต่ขณะเดียวกันสหรัฐอาจกลายมาเป็นผู้ผลิตด้วยไม่ใช่ผู้ซื้ออย่างแต่ก่อน ส่วนอียูเศรษฐกิจฟื้นโดยมีเยอรมนีเป็นตัวนำ แต่อียูยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่มีกลไกปรับความสมดุลย์เพราะความสามารถในการแข่งขันของสมาชิกแตกต่างกัน หลายประเทศยังช่วยตัวเองไม่ได้และอาจโดนลดเกรดความน่าเชื่อถือ เช่น กรีซ สเปน เป็นต้น ส่วนจีนยังมีปัญหาด้านโครงสร้างเช่นกัน รวมถึงกำลังเกิดภาวะฟองสบู่ มีอัตราปล่อยสินเชื่อต่อจีดีพีสูงและรัฐบาลจีนยังค้ำประกันธนาคารขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพล เป็นภาระรับผิดชอบต่อเนื่อง  
 
สิ่งที่อาจฉุดเศรษฐกิจไทยอีกอย่างจะมาจากปัญหาสภาพคล่อง ผลจากการไหลออกของเงินทุนต่างชาติที่ลดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ซึ่งเคยไหลท่วมมานับแต่ปี 2551 ถ้าเงินไหลออกเร็วยิ่งเสี่ยงสูง ความเสี่ยงที่ทุนจะไหลออกอีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการลดมาตรการQEของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ที่คาดว่าทางสหรัฐต้องเร่งทำราวกลางปีหน้าเพราะมีสัญญานการเก็งกำไรเกิดขึ้นในตลาดบ้านมือสอง โดยพบว่า มีถึง 60%ของผู้ซื้อบ้านมือสอง เป็นการซื้อบ้านหลังที่สอง ถ้ามาตรการ QE มีความชัดเจนจะทำให้ทุนต่างชาติกลับมาใหม่ ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐคาดว่าอาจเกิดขี้นในปี 2558 ที่จะกระตุ้นให้เงินไหลออกอีกครั้ง

สำหรับไทยนั้น ดร.อมรเทพยังมองว่า ดอกเบี้ยยังเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่  ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาปรับลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่  2.5% นอกจากนี้ยังมองว่า ภาครัฐยังมีบทบาทกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนเดิม แต่จะไม่มากเหมือนแต่ก่อน
 
ด้านดร.บันลือศักดิ์กล่าวว่า การลงทุนจากภาครัฐที่จะมาจากพรบ.เงินกู้2.2ล้านล้านบาทหากผ่านสภาได้จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ห่วงเพราะมีหลายโครงการที่ยังไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดีสามารถแยกโครงการที่ไม่ต้องทำการศึกษาหรือทำประชาพิจารณ์ด้านสิ่งแวดล้อมออกมาทำก่อนได้เช่น ถนน รั้ว ซึ่งจะช่วยให้มีการลงทุนจากภาครัฐได้ราว 5-6 แสนล้านบาท หรือประมาณแสนล้านบาทต่อปี
 
 

 

 

LastUpdate 22/09/2556 13:57:39 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:04 pm