เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ห่วงบาท "ผันผวน" หลัง "เฟด" คงมาตรการ QE


 

 

หลังการประกาศคงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดโภคภัณฑ์ทั่วโลก ได้ตอบรับผลการประชุมดังกล่าวอย่างร้อนแรง ทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าในประเทศตลาดเกิดใหม่

 

 

ซึ่ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าขณะนี้รัฐบาลมีเครื่องมือและมาตรการในการรองรับเงินทุนที่ไหลเข้าออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งแตกต่างจากการใช้มาตรการ QE ครั้งแรกที่ไทยยังไม่มีความพร้อม ส่วนความกังวล เรื่องเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนจากภาวะเงินทุนไหลเข้า เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ในการกำกับดูแล

 

 

ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงมติของเฟดที่ยังคงเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ว่า จะทำให้ตลาดการเงินปรับตัวพลิกกลับ ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า และนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่มองว่าจะเป็นสถานการณ์ของการปรับตัวระยะหนึ่ง และ ธปท.จะปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ยกเว้นว่ามีความผันผวนมากเกินไป จึงจะเข้าดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งยังมั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบรุนแรง แต่ความผันผวนในตลาดการเงินยังมีอยู่ต่อไป เพราะในช่วงเดือนธันวาคมนี้ เฟดจะมีการประชุมพิจารณาการใช้นโยบาย QE อีกครั้ง 

 

 

ด้านมุมมองของผู้บริหารในแวดวงการเงิน นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยอมรับว่า มติของเฟด ผิดจากที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน แต่เชื่อว่าจะเป็นสถานการณ์ระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้นจึงเชื่อว่า จะไม่กระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันและการค้า เพราะทั้งภูมิภาคได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน 

 

 

ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า ในอนาคต เฟดจะต้องลดขนาดและถอนมาตการ QE อย่างแน่นอน แต่ความกังวลที่เกรงว่า เฟดจะลดขนาดอย่างรุนแรงในช่วงก่อนหน้านี้จะหมดไป และจะสะท้อนถึงอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งราคาสินทรัพย์ที่แท้จริง แต่ในระยะสั้น ตลาดเงินและตลาดทุน ยังคงมีความผันผวนอยู่บ้าง

 

 

ส่วน นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB บอกว่า การคงมาตรการQE ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่ค่าเงินบาทก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้น และค่าเงินบาทในระยะต่อไป ยังจะมีความผันผวนมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องระมัดระวังและมีการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งธนาคารก็พร้อมเข้าไปดูแลลูกค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบ 

ผลการประชุมของเฟดถือว่า ช็อคตลาดโลก และสวนทางกับที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ แต่ก็เป็นการสะท้อนว่า ความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนปีนี้ จะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น 


LastUpdate 20/09/2556 11:13:57 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:32 pm