สุขภาพ
"ไฮโปเธอร์เมีย" ลดอุณหภูมิร่างกาย รักษาเซลล์สมอง ลดความเสี่ยง "เจ้าหญิงนิทรา"


ว่ากันว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดภาวะ หัวใจหยุดเต้นไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดก็ตาม เราทุกคนก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ หรือหากสามารถช่วยปั๊มหัวใจได้ทันเวลา แต่เลือดไม่สามารถไหลเวียนขึ้นไปหล่อเลี้ยง สมองซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญได้ทันการ เซลล์สมองจะตายได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ยิ่งถ้าได้รับการช่วยเหลือล่าช้า โอกาสเสียชีวิต หรือเป็นเจ้าหญิง/เจ้าชายนิทรายิ่งมีสูงขึ้น ทำให้สมรรถภาพร่างกายลดลง และสติปัญญาขาดตกบกพร่องลงไป  

อย่างไรก็ตาม เวลานี้มีนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถช่วยรักษาไม่ให้เซลล์สมองตายเนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้น และช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยให้พ้นจากสภาวะเป็นเจ้าหญิง/เจ้าชายนิทราได้ ซึ่งเรียกว่า ไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia) หรือ เทคนิคการลดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งเป็นแนวทางรักษาที่แพทย์ใช้เพื่อกอบกู้สมองหลังเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น รวมถึงรักษาปัญหาโรคสมองอื่นๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับเซลล์สมองอีกด้วย
นายแพทย์สมบัติ มุ่งทวีพงษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะวิกฤติทางสมอง โรงพยาบาลพญาไท 2 อินเตอร์เนชันแนล อธิบายว่า การรักษาด้วยเทคนิคไฮโปเธอร์เมีย หรือการลดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อรักษาเซลล์สมองไม่ให้ถูกทำลายนั้น เลียนแบบมาจากหลักการเอาของแช่ตู้เย็น โดยสมองจะหยุดกระบวนการเสียหาย หรือเซลล์ถูกทำลาย ถ้าอุณหภูมิร่างกายลดลง โดยทางการแพทย์จะลดให้เหลือ 33 องศาเซลเซียส ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น ใช้อุปกรณ์ให้ความเย็นทางการแพทย์ อาทิ แผ่นแปะ ผ้าห่มให้ความเย็น หรืออาจใช้เทคนิคสอดสายเข้าหลอดเลือดดำ จากนั้นควบคุมอุณหภูมิให้อยู่นิ่งที่ 33 องศาเซลเซียส นาน 24 ชั่วโมง จากนั้นจะปรับเข้าสู่อุณหภูมิปกติของร่างกาย โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน  
สำหรับเทคนิคการลดอุณหภูมิร่างกายมีการศึกษาวิจัยและรักษาผู้ป่วยในบางประเทศมานานกว่าสิบปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ส่วนในเมืองไทยได้นำเทคนิคนี้มาใช้ประมาณ 4-5 ปี ซึ่งยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรที่สามารถรักษาด้วยวิธีไฮโปเธอร์เมียอยู่ไม่มาก ซึ่ง นพ.สมบัติ ก็ได้นำหลักการดังกล่าวเข้ามาสู่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยแพทย์ และในการบรรยายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้เห็นความสำคัญของการรักษาเซลล์สมองหลังจากกู้หัวใจได้อย่างต่อเนื่อง
 
สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักเลย คือ วิธีไฮโปเธอร์เมีย ควรจะต้องดำเนินการทันที หลังจากสามารถปั๊มหัวใจกู้ชีพจรให้เต้นขึ้นมาได้ และการไหลเวียนเลือดกลับมาเป็นปกติ แต่สำหรับบ้านเรา บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป ยังมีความเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก เพราะยังขัดกับวิธีการรักษาและความเชื่อดั้งเดิมที่ร่างกายควรต้องอุ่นเข้าไว้ เราจึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับคนทั่วไป ซึ่งอาจต้องให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโดยไม่ทันตั้งตัว และให้ความรู้ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการไฮโปเธอร์เมียนี้ให้ขยายวงกว้างในวงการแพทย์ต่อไปด้วย ซึ่งการช่วยเหลือที่ถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการหลับไหลเยี่ยงเจ้าหญิง / เจ้าชานิทรา ต่อไปนพ.สมบัติ กล่าวในที่สุด 

LastUpdate 23/09/2556 16:07:07 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 7:01 am