แบงก์-นอนแบงก์
7บ.ประกันรับเสี่ยงเอง-ขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติเบี้ยต่ำกว่ากองทุนฯ


นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสภาวการณ์ตลาดประกันภัยไทยได้เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติและมีการแข่งขันมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงหลังการเกิดมหาอุทกภัยปี 2554 ซึ่งขณะนั้น ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ไม่สามารถรับประกันภัยพิบัติให้แก่ภาคประชาชน และภาคธุรกิจได้ เนื่องจากการทำประกันภัยต่อในตลาดต่างประเทศ มีการคิดค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราที่สูงมาก และผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยไม่สามารถรับความเสี่ยงได้เอง



อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนไปภายหลังการจัดตั้งกองทุนฯตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2555เป็นต้นมา ซึ่งกองทุนฯ ได้เข้ามากำหนดค่าเบี้ยประกันภัยในอัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาดที่ระดับร้อยละ 0.5 – 1.25 ต่อปี เพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจสามารถทำประกันภัยพิบัติได้ในอัตราเบี้ยที่เหมาะสมมีผลให้อัตราค่าเบี้ยประกันภัยต่อลดลงอย่างต่อเนื่อง

การดำเนินงานดังกล่าว ส่งผลให้กลไกตลาดของธุรกิจประกันภัยเริ่มทำงาน และระบบการประกันภัยมีเสถียรภาพและมั่งคงเพิ่มขึ้น ตามลำดับ สะท้อนจากการรับความเสี่ยงไว้เองของบริษัทประกันภัยเพิ่มขึ้น จากช่วงแรกที่มีความสามารถในการรับความเสี่ยงภัยน้อยมาก โดยขณะนี้มีบริษัทประกันภัยจำนวน 7 แห่งได้แก่ บริษัทไอโออิประกันภัย คิวบีประกันภัย สยามซิตี้ประกันภัย สมโพธิ์เจแปนประกันภัยสหมงคลประกันภัย มิตซุย สุมิตโตโม และเมืองไทยประกันภัยเสนออัตราเบี้ยประกันภัยต่ำกว่ากองทุนฯ ร้อยละ 20 และรับความเสี่ยงไว้เองทั้งหมดโดยไม่ส่งต่อให้แก่กองทุนฯ ทั้งนี้คิดเป็นมูลค่าทุนประกันภัยทรัพย์สิน รวมทั้งสิ้น 2,327,737 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของทุนประกันภัยลมพายุ จำนวน 296,051 ล้านบาท ทุนประกันภัยแผ่นดินไหว 295,493 ล้านบาท และทุนประกันภัยน้ำท่วมจำนวน 64,416 ล้านบาทนอกจากนั้นยังมีบริษัทประกันภัยอีกหลายแห่งได้ขยายการรับความเสี่ยงไว้เองเพิ่มขึ้นและส่งต่อให้กองทุนฯ ลดลง

สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุนฯ ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2555 – 22 ส.ค. 2556 มียอดจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติทั้งสิ้น 1,615,429ฉบับ เป็นจำนวนกรมธรรม์ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 1,394,085 ฉบับ ทุนประกันกัยพิบัติที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 90,069 ล้านบาท และทุนประกันภัยต่อตามสัดส่วนของกองทุนฯ ที่ยังมีความคุ้มครองอยู่ 50,735 ล้านบาท

“ผลการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนว่าประชาชนและภาคอุตสาหกรรมมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยพิบัติ และเชื่อมั่นในการดำเนินงานของกองทุนฯ ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้นก็จะมีกองทุนฯ ให้ความคุ้มครองทรัพย์สิน และจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งมั่นคงให้กับภาคอุตสาหกรรมให้สามารถเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมของโลกต่อไป” นายพยุงศักดิ์กล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.ย. 2556 เวลา : 18:06:56
22-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 22, 2024, 2:03 pm