นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.ได้ออกประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาโรคมะเร็งให้แก่ผู้ประกันตน โดยเพิ่มการจ่ายยารักษาโรคมะเร็งเป็น 10ชนิด โดยจากเดิมมี 7 โรค ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งโพรงจมูก มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และเพิ่มใหม่อีก 3 โรค คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปัสสาวะ และมะเร็งต่อมลูกหมาก
ประกาศดังกล่าวจะทำให้การให้ยารักษาโรคมะเร็งทั้ง 10 ชนิดแก่ผู้ประกันตนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และแพทย์สามารถเปลี่ยนสูตรยารักษาได้ตามความเหมาะสม โดยโรงพยาบาลที่ให้การรักษาไม่ต้องกังวลกับการเบิกค่ายารักษาจาก สปส. ซึ่งทำให้การรักษามีมาตรฐานเช่นเดียวกับกองทุนสุขภาพอื่นๆ เนื่องจากประกาศฉบับเดิมก่อนหน้านี้กำหนดให้การให้ยารักษาโรคมะเร็งจะต้องให้ยาครบตามจำนวนครั้งตามเกณฑ์ที่ สปส.กำหนด หากให้ยาไม่ครบตามเกณฑ์ทางโรงพยาบาลที่รักษาจะไม่สามารถเบิกค่ายารักษาจาก สปส.ได้ ทำให้โรงพยาบาลไม่กล้าที่จะปรับเปลี่ยนสูตรยา เพื่อให้เหมาะสมกับการรักษาตามอาการของผู้ป่วยทั้งที่บางครั้งผู้ป่วยไม่สามารถรับยาสูตรเดิมได้อีก แต่ประกาศฉบับใหม่ดังกล่าว เมื่อโรงพยาบาลจ่ายยาแต่ละครั้งจะสามารถเบิกค่ายารักษาได้ทันทีและสามารถปรับเปลี่ยนสูตรยารักษาได้ตามอาการผู้ป่วย
นอกจากนี้ ประกาศดังกล่าวได้กำหนดให้โรงพยาบาลในระบบประกันสังคมที่มีศักยภาพสามารถใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ ซึ่งมีราคาชุดละ 2 แสนบาทให้แก่ผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงที่สปส.กำหนดด้วย ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะจัดประชุมชี้แจงเรื่องนี้ต่อโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมในเดือนตุลาคมนี้
ข่าวเด่น