คณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2556 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซียเห็นพ้องเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สนับสนุนโครงการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การเข้าถึงบริการด้านการเงินของประชาชนระดับรากหญ้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังรายงานว่า นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2556 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีนาย Muhammad Chatib Basri รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย เป็นประธาน ซึ่งการประชุมได้มีการหารือในประเด็นด้านเศรษฐกิจ และการเงินการคลังที่สำคัญหลายประการ เห็นพ้องเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว สนับสนุนโครงการด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การเข้าถึงบริการด้านการเงินของประชาชนระดับรากหญ้าและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs)
ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
จึงได้ส่งเสริมให้เขตเศรษฐกิจเอเปค มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาศักยภาพของแรงงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในระยะยาว ซึ่งในวาระนี้ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้ชี้แจงถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ในปี 2556 ว่า ได้เข้าสู่สภาวะปกติภายหลังจากเกิดวิกฤตอุทกภัยในปี 2555 แล้ว โดยเฉพาะการส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเน้นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยได้เห็นชอบให้มีการพิจารณาเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการประชุมของ
APEC FMM ในปีต่อๆ ไปด้วยเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินการ โดยหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้นำเสนอเกี่ยวกับพระราชบัญญัติกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายใต้งบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งได้มีการกำหนดแผนการลงทุนภายในช่วงระยะเวลา 7 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) โดยได้เห็นชอบให้จัดตั้ง APEC Experts Advisory Panel ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากเขตเศรษฐกิจเอเปคต่างๆ และธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่ดีและจัดหาความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่หน่วยงานด้าน PPP (PPP Centre) ที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นการนำร่องที่กระทรวงการคลังอินโดนีเซีย และจะมีการจัดตั้งขึ้นในเขตเศรษฐกิจเอเปคอื่นๆ ต่อไป โดยประเด็นนี้ หัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของไทย โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และได้กล่าวถึงความสำเร็จของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ของไทยด้วย
ในโอกาสเดียวกันที่ประชุมได้รับทราบผลการสำรวจสภาวะของสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ที่ได้จัดทำโดย APEC Policy Support Unit ซึ่งพบว่า Trade Finance ได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นในหลายเขตเศรษฐกิจเอเปคหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเมื่อปี 2550 อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลถึงการบังคับใช้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ Basel III ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อต้นทุนการทำ Trade Finance ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ที่จะสูงขึ้น
ที่ประชุมได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเข้าถึงบริการด้านการเงิน (Financial Inclusion) ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและเท่าเทียมกันในภูมิภาค โดยสนับสนุนการพัฒนาช่องทางการให้บริการด้านการเงิน โดยเฉพาะการธนาคารไร้สาขา (Branchless Banking) เพื่อให้ประชาชนระดับรากหญ้าและ SMEs สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกมากยิ่งขึ้น พร้อมกับส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงินและการคุ้มครองผู้บริโภค
ขณะเดียวกันที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของมาตรการริเริ่มต่างๆ ภายใต้กรอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ได้แก่ การเตรียมการด้านการเงินเพื่อรองรับความเสี่ยงภัยจากพิบัติ (Disaster Risk Financing) ผลการประชุม Asia-Pacific Financial Forum ที่ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10-11 เมษายน 2556 ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย รวมถึงความคืบหน้าของโครงการบริหารจัดการกองทุนภูมิภาคเอเชียข้ามพรมแดน (Asia Region Funds Passport: ARFP) เพื่อส่งเสริมการรวมตัวของตลาดทุนภายในภูมิภาคและการปฏิรูปการคลังภาครัฐและงบประมาณ (Treasury and Budget Reform)
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556 นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ยังได้หารือทวิภาคีกับ Ms. Marisa Lago ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ในเรื่องนโยบายเศรษฐกิจไทย และแนวทางความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศด้วย
อนึ่ง การประชุม APEC FMM ครั้งนี้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนของเขตเศรษฐกิจเอเปคที่เข้าร่วมการประชุม APEC FMM ครบทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู
ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และก่อนหน้าการประชุมดังกล่าว ได้มีการประชุม APEC Finance Deputies’ Meeting ซึ่งในส่วนของไทย มีนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ซึ่งได้พิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำเสนอให้ APEC FMM พิจารณาต่อไป
ข่าวเด่น