
ย้อนกลับไปที่กีฬาโอลิมปิก เมื่อปี 1988 ที่ประเทศเกาหลีใต้ แม้จะผ่านมา 25 ปีแล้ว แต่เรื่องราวหลายอย่างยังอยู่ในความทรงจำ รวมทั้งเรื่องของนักกรีฑาที่ใช้สารกระตุ้นที่ตกเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก แต่แม้จะเป็นข่าวใหญ่ หากตอนนั้น กฎการลงโทษการใช้สารกระตุ้นของนักกรีฑาเข้มงวดถึงที่สุด ก็น่าจะเป็นโอกาสของนักวิ่งระดับพรสวรรค์ชาวสหรัฐอย่าง "คัลวิน สมิธ" ที่จะเป็นผู้ครองแชมป์วิ่ง 100 เมตรตัวจริง รวมถึงน่าจะได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าของสถิติโลกด้วย
การแข่งขันวิ่ง 100 เมตร ทั้งหญิงและชาย นับเป็นรายการที่ผู้คนให้ความสนใจ แต่น่าเสียดายที่ในโอลิมปิก ปี 1988 ในการวิ่ง 100 เมตรชาย เต็มไปด้วยมลทิน
"เบน จอห์นสัน" นักวิ่งลมกรดจอมฉาวชาวแคนาดา เข้าวินคว้าเหรียญทองวิ่ง 100 เมตร โอลิมปิก ปี 1988 ด้วยสถิติโลก 9.79 วินาที โดยมี "คาร์ล ลูอิส" ลมกรดชาวสหรัฐ ตามเข้าอันดับ 2 เวลา 9.92 วินาที ส่วน "ลินฟอร์ด คริสตี" จากสหราชอาณาจักร เข้าที่ 3 โดยมี "สมิธ" เข้าที่ 4
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา จอห์นสันถูกตรวจพบสารกระตุ้นต้องห้ามประเภทสตาโนโซโลล สเตียรอยด์ ทำให้จอห์นสันถูกแบน 4 ปี พร้อมกับถูกปรับแพ้ ถูกยึดเหรียญทองคืน รวมถึงสถิติโลก 9.79 วินาที ถูกปรับให้เป็นโมฆะอีกด้วย ส่วนลูอิสได้รับการเลื่อนอันดับให้ขึ้นมารับเหรียญทองได้แชมป์โอลิมปิก ปี 1988 แทนจอห์นสัน ขณะที่ คริสตีขยับขึ้นมารับเหรียญเงิน ส่วนสมิธเลื่อนขึ้นมารับเหรียญทองแดง

อย่างไรก็ตาม มาถึงเวลานี้มีเพียง "สมิธ" คนเดียวจากนักวิ่งที่เข้าป้าย 5 อันดับแรก ในรอบชิงชนะเลิศวิ่ง 100 เมตรชาย โอลิมปิก ปี 1988 ที่ยังไม่ถูกตรวจพบสารกระตุ้นต้องห้าม เพราะทั้งลูอิสและคริสตีที่ได้ชื่อว่าเป็นเคยเป็นแชมป์วิ่ง 100 เมตร โอลิมปิกทั้งคู่ กลับถูกตรวพบสารกระตุ้นในเวลาต่อมา
ในปี 2003 เพิ่งมีการเปิดเผยข้อมูลว่า ลูอิสเคยตรวจโด๊ปไม่ผ่านถึง 3 ครั้ง ในช่วงการลงแข่งคัดเลือกตัวแทนทีมชาติสหรัฐอเมริกาไปแข่งกีฬาโอลิมปิก ปี 1988 แม้ทางคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกาได้ระบุว่า สารกระตุ้นที่ตรวจพบนั้นเป็นเพียงสารที่มาจากสมุนไพรที่ลูอิสทานเข้าไปโดยไม่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม และเป็นสิทธิขาดของคณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐที่จะตัดสินว่าจะลงโทษลูอิสหรือไม่ แต่ลูอิสก็รอดตัว
ขณะที่คริสตีถูกตรวจพบสารกระตุ้นประเภทซูโดเอฟีดรีนหลังจบโอลิมปิก ปี 1988 แต่โชคดีที่ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีมติแบบไม่เป็นเอกฉันท์ไม่สั่งแบนเขา เนื่องจากเป็นสารที่เขาได้รับโดยไม่ได้ตั้งใจจากการดื่มชา
ดังนั้น หากวัดกันถึงความบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว "สมิธ"น่าจะเหมาะสมที่สุดที่เป็นแชมป์และเจ้าของสถิติโลกตัวจริง จากศึกชิงเจ้าลมกรดในโอลิมปิก ปี 1988
ข่าวเด่น