ไนท์แฟรงค์ ชี้ชัดตลาดคอนโดมิเนียมเติบโตต่อเนื่อง เหตุผู้ประกอบการแห่ลงทุนโครงการใหม่ในย่านชานเมือง เกาะแนวรถไฟฟ้า BTS เส้นทาง ส่วนต่อขยายกรุงธนบุรี -บางหว้า ราคาขายเฉลี่ยพุ่งทะลุ 100,000 บาทต่อตารางเมตร
.jpg)
นางสาวริษิณี สาริกบุตร อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า คอนโดมิเนียมในทำเลชานเมืองจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯด้วยจำนวน 22,465 ยูนิต หรือคิดเป็นประมาณ 70% ของโครงการเปิดตัวใหม่ทั้งหมด โดยการเติบโตที่เห็นภาพชัดเจนที่สุดคือในพื้นที่ใกล้กับเส้นทางขนส่งมวลชนส่วนขยายต่างๆ
ฝ่ายวิจัยไนท์แฟรงค์ประเทศไทยได้ทำการสำรวจอุปทานคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพฯในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีจำนวนยูนิตใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 32,244 ยูนิต หรือคิดเป็นการเติบโต 12% จากสิ้นปีที่ผ่านมา ซึ่งโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่ชานเมือง ส่วนคอนโดมิเนียมในย่านรอบนอกของตัวเมือง และย่านธุรกิจใจกลางเมืองคิดเป็น 25% และ 5% ของโครงการเปิดใหม่ ตามลำดับ

การเติบโตของคอนโดมิเนียมในย่านชานเมืองได้รับอานิสงส์จากการขยายเครือข่ายขนส่งมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายเส้นทางเดินรถไฟบีทีเอสจากอ่อนนุชไปถึงแบริ่ง ซึ่งครอบคลุมกรุงเทพฯฝั่งตะวันออกตามแนวถนนสุขุมวิทตอนนอกและจากกรุงธนบุรีไปบางหว้า ซึ่งครอบคลุมทางใต้ของเมืองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงเขตธนบุรี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการแห่งใหม่จำนวน 13 โครงการ จำนวนรวม 5,486 ยูนิต เกิดขึ้นใกล้กับเส้นทางรถไฟเอ็มอาร์ทีสายสีม่วงส่วนขยาย ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างโซนตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพจากบางซื่อไปยังนนทบุรี ส่วนบริเวณใกล้กับบีทีเอสส่วนขยายจากอ่อนนุชไปแบริ่งนั้นมีโครงการแห่งใหม่ 12 โครงการ จำนวนรวม 3,136 ยูนิต
เมื่อนับจำนวนยูนิตใกล้เส้นทางขนส่งมวลชนส่วนขยายเหล่านี้แล้วได้เป็นจำนวนประมาณ 9,123 ยูนิตหรือ 46% ของอุปทานใหม่ทั้งหมดในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้
คอนโดมิเนียมแห่งใหม่อยู่ในทำเลใกล้เส้นทางเดินรถไฟบีทีเอสส่วนขยายจากกรุงธนบุรีไปบางหว้ามีดีมานด์มากที่สุดหรือประมาณ 51% ของอุปทานใหม่ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้ประกอบการโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายรายเข้าสู่ตลาดในเซ็กเมนท์นี้ เนื่องจากเป็นทำเลสำคัญสำหรับการพัฒนาคอนโดมิเนียมจากการที่มีเส้นทางขนส่งมวลชนทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที ซึ่งสามารถให้บริการประชาชนที่พักอาศัยในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี

พื้นที่ตั้งแต่ถนนสุขุมวิทตอนนอก จากบริเวณอ่อนนุชไปสมุทรปราการ กลายเป็นทำเลสำคัญสำหรับการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมด้วยเช่นกัน คอนโดมิเนียมในย่านนี้มีอัตราการขายที่ดี มียอดขายเกือบ 49.68% อยู่ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ การเติบโตตรงจุดนี้สะท้อนให้เห็นถึงปริมาณที่ดินที่ยังมีเหลืออยู่และมีราคาไม่สูงเหมือนกับย่านถนนสุขุมวิทตอนใน ทั้งยังสามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้โดยใช้ทั้งถนนหรือระบบขนส่งมวลชนต่างๆด้วย พื้นที่ในย่านนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าขายปลีกและศูนย์จัดนิทรรศการในจำนวนที่เพียงพอต่อการใช้งาน ประกอบกับการที่ในปัจจุบันมีอุปทานในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ จึงทำให้เชื่อว่าจะต้องมีการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียมอย่างมีนัยยะสำคัญอย่างแน่นอนในอนาคต
ตัวเลขจากฝ่ายวิจัยไนท์แฟรงค์ประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าอัตราการซื้อในตลาดคอนโดมิเนียมกรุงเทพฯโดยรวมอยู่ในระดับที่ดี ยูนิตที่เปิดตัวในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีอัตราการซื้อประมาณ 56.55% หรือขายได้แล้ว 18,234 ยูนิต สำหรับในพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯนั้นอัตราการซื้อก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่ 52.81% หรือขายได้แล้ว 11,864 ยูนิต
อุปสงค์สำหรับคอนโดมิเนียมในย่านชานเมืองกรุงเทพฯจะอยู่ในเซ็กเมนท์ระดับกลางและระดับล่าง มีกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายคือกลุ่มที่เดิมใช้วิธีเช่าอพาร์ทเมนท์พักอาศัย แต่ในปัจจุบันต้องการเป็นเจ้าของยูนิตในคอนโดมิเนียมและผ่อนค่างวดในระดับที่ใกล้เคียงกับเงินที่จ่ายเป็นค่าเช่า ห้องจึงมีขนาดเล็กแต่ผู้ซื้อก็ได้ประโยชน์จากการที่ได้อยู่ใกล้กับเส้นทางของบีทีเอสหรือเอ็มอาร์ที
.png)
คอนโดมิเนียมย่านชานเมืองที่มีราคาขายเฉลี่ยสูงสุด คือ โครงการตามเส้นทางบีทีเอสส่วนขยายจากกรุงธนบุรีไปบางหว้าซึ่งสร้างเสร็จแล้ว มีราคาอยู่ที่ประมาณ 106,083-109,111 บาทต่อตารางเมตร สะท้อนให้เห็นถึงการที่ผู้ประกอบการโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทยทำโครงการใกล้กับสถานีบีทีเอส อาทิ Ideo Sathorn-Thapra และ Nye by Sansri ซึ่งมีราคายูนิตขนาดประมาณ 30 ตารางเมตรแบบหนึ่งห้องนอนอยู่ที่ราว 2.79-2.99 ล้านบาท ราคาขายโดยเฉลี่ยของโครงการที่ตั้งอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนขยายจากอ่อนนุชไปแบริ่งอยู่ที่ 85,046-97,672 บาทต่อตารางเมตร และราคาขายโดยเฉลี่ยของโครงการที่ตั้งอยู่ตามแนวรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีม่วงอยู่ที่ประมาณ 56,330-65,341 ต่อตารางเมตร
นางสาวริษิณี คาดว่าอุปทานของโครงการคอนโดมิเนียมย่านชานเมืองของกรุงเทพฯจะเพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงส่วนขยายของเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนในเขตธนบุรี ผู้ประกอบการโครงการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จะลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อตอบรับอุปสงค์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่ซื้อที่พักอาศัยเป็นครั้งแรก เพราะมีความต้องการพักอาศัยในคอนโดมิเนียมที่สามารถเดินทางเข้าเมืองได้สะดวกโดยการใช้ระบบขนส่งมวลชน แต่การซื้อยูนิตในโครงการใกล้รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสายสีม่วงยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ปัจจุบันยังมีจำนวนยูนิตเหลืออีกมาก ทำให้ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังว่าอาจเกิดสภาวะโอเวอร์ซัพพลายในอนาคตได้
ข่าวเด่น