ความเสียหายจากมหาอุทกภัยในปี 2554 ยังคงตามหลอกหลอนภาคอุตสาหกรรมของไทย เพราะต้องยอมรับว่า ในปี 2554 อุตสาหกรรมไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายไว้ที่ 156,700 ล้านบาท ความเสียหายส่วนใหญ่มาจากผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมการผลิต โดยมีโรงงาน 930 แห่งใน 28 จังหวัดได้รับผลกระทบรวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี ขณะที่ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท และจัดให้เป็นภัยพิบัติครั้งสร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก
ขณะเดียวกันมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี 2554 นั้น ยังฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เมื่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยใน พ.ศ. 2554 ขยายตัวเพียง 0.1% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายอมรับว่าต่ำกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายที่จีดีพีติดลบถึง 9% สถานการณ์น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ จึงเป็นปัจจัยที่ได้สร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจของไทยอย่างมาก
โดยเฉพาะในส่วนของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่ง นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางที่ประสบอุทกภัยในปี 2554 โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเจ้าพระยา
โดยนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 48 แห่ง อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 16 แห่ง แบ่งเป็นนิคมฯที่ กนอ.ดูแล 6 แห่ง และนิคมฯร่วมเอกชน 10 แห่ง นิคมฯในพื้นที่เสี่ยงนี้เป็นนิคมฯในพื้นที่ถูกน้ำท่วมปี 2554 ใน จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี 6 แห่ง และนิคมฯที่ไม่เคยถูกน้ำท่วม แต่มีความเสี่ยงในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเจ้าพระยา อีก 10 แห่ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล
กนอ.ได้เตรียมความพร้อมในการรับมือหากเกิดปัญหาอุทกภัย ป้องกันหรือลดความเสียหายหากเกิดอุทกภัยต่อฐานการผลิตอุตสาหกรรมของประเทศ อาทิ การซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดภาวะน้ำท่วมเฉียบพลัน การสนับสนุนสร้างระบบเขื่อนป้องกันอุทกภัยนิคมฯ เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนและสภาอุตสาหกรรมกำลังติดตามสถานการณ์น้ำและการป้องกันช่วยเหลือของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด แม้คาดการณ์ว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอยเหมือนกับในปี 2554 แต่ก็ยอมรับว่าประมาทไม่ได้ เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงฤดูฝนที่อาจจะมีมรสุมเข้ามาในประเทศไทยทำให้ฝนตกมากได้
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้มีการหารือว่า มาตรการป้องกันน้ำท่วมนิคมต้องมองไปถึงการช่วยเหลือชาวบ้านและชุมชนรอบนิคมด้วย เพราะหากชุมชนโดยรอบได้รับผลกระทบลูกจ้างก็จะได้รับความยากลำบาก และโรงงานอาจได้รับผลกระทบในการผลิตด้วย
สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปีนี้ ถือเป็นอีกบททดสอบหนึ่งของรัฐบาลในการแก้ปัญหา การบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด หลังออก พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในระยะยาว
ข่าวเด่น