กรมบัญชีกลาง เปิดเผยผลการดำเนินงานที่สำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา 7 ตุลาคม 2556 ครบรอบ 123 ปี ระบุ โครงการรถคันแรก มีผู้มีสิทธิได้รับเงินแล้วจำนวน 465,954 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 32,565 ล้านบาท
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยผลการดำเนินงานที่สำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา 7 ตุลาคม 2556 ครบรอบ 123 ปี ว่า กรมบัญชีกลางได้ดำเนินการตามภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ 1. ด้านควบคุมการเบิกจ่ายเงินของแผ่นดิน 2. ด้านควบคุมการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการ 3. ด้านควบคุมงบบุคลากรภาครัฐ และ 4. สนับสนุนนโยบายกระทรวงการคลังและรัฐบาล โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
1.ในด้านการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เบิกจ่ายภาพรวมได้จำนวน 2,171,459 ล้านบาท หรือ 90.48% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่าย 3.52% สำหรับรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 276,574 ล้านบาท หรือ 67.77% ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่าย 12.23% ถึงแม้ว่าผลการเบิกจ่ายเงินปีนี้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีเงินเป็นจำนวนมากที่ต้องดำเนินงานทั้งเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี และเงินกู้ 350,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนราชการสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ถึง 80% ของรายจ่ายลงทุน แต่มีการจัดสรรเงินจำนวน 44,006 ล้านบาทในงวดที่ 4 ล่าช้า ทำให้ยอดเงินจำนวนนี้ไม่สามารถที่จะจัดซื้อจัดจ้างได้ทันเวลาที่อาจต้องใช้เวลาถึง 90 วัน
สำหรับโครงการรถคันแรก ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2555 – 30 กันยายน 2556 มีผู้มีสิทธิได้รับเงินแล้วจำนวน 465,954 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 32,565 ล้านบาท เป็นเงินงบประมาณจำนวน 7,280 ล้านบาท และเงินคงคลังจำนวน 25,285 ล้านบาท และจะมีการตั้งรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังในปีงบประมาณ พ.ศ.2558
ในส่วนของเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 เบิกจ่ายเงินไปแล้วจำนวน 5,027 ล้านบาท โดยเบิกจ่าย 3 ลำดับแรก คือ อุทกภัย จำนวนประมาณ 3,111 ล้านบาท ด้านภัยแล้ง จำนวนประมาณ 1,142 ล้านบาท และวาตภัย จำนวนประมาณ 271 ล้านบาท
2. ด้านการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.กบข. นั้นทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 เรียบร้อยแล้ว และทางกระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางได้ยืนยันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวและส่งกลับไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 เพื่อเสนอร่างดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สำหรับข้อ3. การปรับปรุงหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีปฏิบัติในการเปิดเผยราคากลางนั้น ทางกรมบัญชีกลางได้เสนอแนวทางการเปิดเผยราคากลางของทางราชการ ทั้งที่เป็นงานก่อสร้างและไม่ใช่งานก่อสร้างต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย ครม.ได้เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103/7 และกรมบัญชีกลางได้แจ้งเวียนให้หน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2556 โดยให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยราคากลางการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเกิน 100,000 บาท ไว้ในเว็บไซต์ของหน่วยงาน และ www.gprocurement.go.th ในส่วนของงานก่อสร้างให้ดำเนินการตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน จึงได้กำหนดแนวทางการเปิดเผยราคากลางที่ไม่ใช่งานก่อสร้าง โดยสรุปประเด็นสำคัญๆ อาทิเช่น ประเภทครุภัณฑ์ให้ใช้ราคามาตรฐานที่สำนักงบประมาณกำหนด ประเภทยา ใช้ราคามาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ประเภทระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ใช้ราคามาตรฐานตามที่กระทรวง ICT กำหนดหรือใช้ราคาตลาด และประเภทการจ้างที่ปรึกษา เป็นไปตามหลักเกณฑ์การคิดอัตราค่าตอบแทนที่ปรึกษาตามที่สำนักบริหารหนี้สาธารณะกำหนด
ทั้งนี้ ได้พัฒนาระบบ e-GP เพื่อให้รองรับการเปิดเผยราคากลางข้างต้น โดยได้นำแบบฟอร์มการเปิดเผยราคากลางและการคำนวณราคากลางเผยแพร่ในเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ดำเนินการต่อไป ซึ่งหน่วยงานทุกแห่งต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในระบบ e-GP
สุดท้าย4. หลักสูตรนักบริหารการเงินการคลังภาครัฐระดับสูง (บงส.)กรมบัญชีกลางได้เห็นความสำคัญของการเสริมสร้างความรู้ด้านการเงินการคลังให้กับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ โดยได้จัดหลักสูตรนักบริหารการเงินการคลังภาครัฐระดับสูง (บงส) เพื่อให้สามารถบริหารการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินของแต่ละหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด หลักสูตรนี้เปิดรับสมัคร
ผู้เข้ารับการอบรมในระดับรองหัวหน้าส่วนราชการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป ซึ่งได้เริ่มเปิดรับสมัครมาตั้งแต่เดือนกันยายนและจะปิดรับสมัครในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 และจะเปิดเรียนวันที่ 14 ธันวาคม 2556 หลักสูตรดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด รวมทั้งจะเป็นการสร้างเครือข่ายการบริหารงานด้านการเงินการคลังภาครัฐ ในกลุ่มนักบริหารระดับสูง รวมทั้งทำให้เกิดการทำงานที่บูรณาการระหว่างกันได้เป็นอย่างดี
ข่าวเด่น