GSK เป็นบริษัทในอุตสาหกรรมยารายแรกที่ได้รับเกียรติบัตร บริษัทที่ได้รับการรับรองเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2556 (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption) เป็นการตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ ซื่อสัตย์ และโปร่งใส ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้นโยบาย “ยาดีเข้าถึงได้” เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยาดีมีคุณภาพให้กับคนไทยอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประธานพิธีมอบเกียรติบัตร กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามดำเนินการหลายเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ที่ต้องบริหารงานเพื่อสร้างสังคมที่โปร่งใส ซื่อตรง มีประสิทธิภาพ ในการนำบริการของรัฐที่มีคุณภาพไปสู่ประชาชน และถือเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นจุดมุ่งหมาย ภาคธุรกิจเอกชน โดยสนับสนุนให้หน่วยงานของเอกชนทำงานด้วยความโปร่งใส มีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ซื่อตรงเป็นธรรมต่อลูกค้า และภาคประชาชน ที่ต้องสร้างความตระหนักในเรื่องสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อเป็นพลังของประเทศที่มีคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจในหลักการการสร้างกลไกการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
นายวิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK บริษัทผู้ค้นคว้าวิจัยพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรม เปิดเผยว่า GSK มีความยินดีและภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติบัตรรับรอง “เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต ประจำปี 2556” โดยคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption Council (CAC) ซึ่งการที่ GSK ได้รับความไว้วางใจนี้ สะท้อนถึงความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส ถูกต้องตามจริยธรรม และเคารพต่อกฎหมาย ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของGSK และพนักงานทุกคนที่มุ่งมั่นปฏิบัติ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาและการมีสุขภาพดีของคนไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
“ตลอด 50 ปีในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย GSK ยืนหยัดในนโยบายยาดีเข้าถึงได้ (Access to Medicines) เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงยา และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายนี้ คือ การดำเนินธุรกิจด้วยความด้วยความซื่อสัตย์และโปร่งใส ถูกต้องตามจริยธรรม และเคารพต่อกฎหมาย พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนอย่างบูรณาการโดยได้ให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มความสามารถ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของคนไทย” นายวิริยะกล่าวยืนยัน
ทั้งนี้ บริษัทที่เข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตจะร่วมกันดำเนินงานตามกรอบหลักสากลว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต การต่อต้านการให้สินบน และหลักการต่างๆ ของธนาคารโลก Center for International Private Enterprise และองค์กรนานาชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตภายในบริษัท รวมถึงการนำนโยบายการต่อต้านการทุจริตและแผนการกำกับการปฏิบัติงานไปปฏิบัติ พร้อมจัดให้มีคู่มือ/แนวทางในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้บริหารและพนักงาน มีการสนับสนุนให้มีการทำรายการทางธุรกิจอย่างมีคุณธรรม ถูกต้องและโปร่งใส และพร้อมเข้าร่วมในกิจกรรมต่อต้านการทุจริต โดยจะมีการตรวจสอบและรับรองโดยคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนไทย ทุก 3 ปี
ข่าวเด่น