แบงก์-นอนแบงก์
"กรุงศรี" งัด 3 กลยุทธ์รุกตลาดบัตรเครดิตโค้งท้ายปี ดันยอดพุ่งทะลุ 2.3แสนล้านบาท



"กรุงศรีคอนซูเมอร์"กางแผนบุกโค้งท้าย งัด 3 กลยุทธ์ปั๊มยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ผนึกพาร์ทเนอร์-รุกเซ็กเมนต์ฮอต-เพิ่มยอดผ่อน 0% มั่นใจตลาดปลายปียังโตดี กวาดยอดทะลุเป้า 2.2-2.3 แสนล้านบาท พร้อมตั้งการ์ดรับปัญหาหนี้ครัวเรือน ขยับเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำจาก 8,000 บาท/เดือน เป็น 10,000 บาท/เดือน กรองลูกค้าเข้มข้น มั่นใจสกัดกลุ่มเสี่ยงสูง

 

 

นายฐากร ปิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด (กรุงศรีคอนซูเมอร์) เปิดเผยว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทางบริษัทได้วางกลยุทธ์การเพิ่มยอดใช้จ่ายในช่วงนี้ไว้ 3 ด้าน คือ มุ่งเน้นการทำตลาดร่วมกับพาร์ทเนอร์ของบริษัท ซึ่งมีบัตรเครดิตแบบโคแบรนด์ร่วมกัน เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเทสโก้โลตัส ห้างโฮมโปร และบริษัท เอไอเอ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีฐานลูกค้าประจำ และใช้กลยุทธ์การตลาดแบบเข้าถึงรายเซ็กเมนต์ของลูกค้าโดยร่วมแคมเปญกับพาร์ทเนอร์

ต่อมาเป็นการจัดแคมเปญการตลาดลงไปโฟกัสในหมวดที่มียอดใช้จ่ายเข้ามามากๆ ช่วงปลายปี เช่น หมวดท่องเที่ยวและโรงแรม หมวดซูเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้า รวมถึงการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี ทั้ง LTF และ RMF ซึ่งเป็นความร่วมมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแบงก์แม่และมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงศรี เป็นผู้จัดการกองทุน

สุดท้าย กลยุทธ์สิทธิประโยชน์ด้านการผ่อนชำระค่าสินค้าที่คิดดอกเบี้ย 0% ซึ่งเข้าไปร่วมกับสินค้าไลฟ์สไตล์ของลูกค้าหลายอย่าง เช่น สมาร์ทโฟนที่เพิ่งออกใหม่ ทั้งไอโฟนและซัมซุง แพ็คเกจกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ของ CTH และทีวีรุ่นใหม่ เป็นต้น

"ตลาดบัตรเครดิตช่วงปลายปีนี้เรายังมั่นใจว่าสามารถขยายตัวไปได้ แม้ตอนนี้จะมีประเด็นเรื่องกำลังซื้อที่อาจจะชะลอตัวลงบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ไตรมาส 4 เป็นจังหวะที่ยอดใช้จ่ายพุ่งขึ้นอยู่แล้ว ไม่น่ากังวลมากนัก โดยยังมั่นใจว่ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเครือกรุงศรีคอนซูเมอร์ทั้งหมดปีนี้น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย 2.2-2.3 แสนล้านบาท"

ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อบุคคลภายใต้แบรนด์ "กรุงศรี เฟิร์สช้อยส์" นายฐากรยอมรับว่า ตอนนี้เริ่มเป็นห่วงคุณภาพหนี้ของลูกค้ารายใหม่ๆ ที่จะเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน เพราะเวลานี้มีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น จึงต้องระมัดระวังสถานการณ์นี้ค่อนข้างมาก โดยล่าสุดได้ตัดสินใจปรับเพิ่มเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำสำหรับลูกค้ารายใหม่ๆ จะเริ่มต้นที่ 10,000 บาทขึ้นไป จากเดิมเริ่มต้นที่ 8,000 บาท

เขากล่าวอีกว่า ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระของกลุ่มที่มีรายได้ต่ำเพิ่มขึ้น อัตราหนี้เสียขยับมาอยู่ที่ประมาณ 2.6% จากต้นปีอยู่ที่ประมาณ 2.3% รวมถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่เข้ามาจะเริ่มเห็นว่ามีภาระหนี้สูงขึ้นประมาณ 60-70% เมื่อเทียบกับรายได้ ยิ่งถ้ามีรายได้ต่ำอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้ความสามารถชำระหนี้ยิ่งน้อยลง จึงเห็นว่าควรปรับเกณฑ์รายได้ตรงนี้ใหม่

"แม้จะเพิ่มเกณฑ์ตรงนี้เข้าไป แต่เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบต่อแผนการขยายฐานลูกค้าและสินเชื่อใหม่ในปีนี้มากนัก เพราะปัจจุบันพอร์ตกรุงศรี เฟิร์สช้อยส์ จะมีกลุ่มลูกค้าที่รายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทไม่มากนัก ราว 10-12% ขณะเดียวกันเราก็เพิ่มทีมติดตามหนี้เข้าไปอีกประมาณ 100 คน จากเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 800 คน ซึ่งมั่นใจว่าน่าจะคุมอัตราหนี้เสียให้อยู่ในระดับไม่เกิน 2.6% ได้" นายฐากรกล่าว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ต.ค. 2556 เวลา : 09:31:34
21-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 21, 2024, 10:42 pm