เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"จีน-ญี่ปุ่น" เจ้าหนี้อันดับต้นของสหรัฐ


 

 

การขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ ที่จะถึงกำหนดในวันที่ 17 ต.ค. 2556 นี้ ได้สร้างความวิตกกังวลไปทั่วโลก เนื่องจากหากสภาคองเกรสลงมติไม่ทัน จะทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องผิดนัดชำระหนี้ และอาจถูกบริษัทจัดอันดับชั้นนำของโลกปรับลดเครดิตประเทศลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบรรดาเจ้าหนี้ของสหรัฐ ไปทั่วโลก 

  

 

 

โดยประเทศที่ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ ถือว่ามีฐานะเป็นเจ้าหนี้สหรัฐโดยตรง ซึ่งจากรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐ ระบุว่า จนถึงสิ้นเดือน ก.ค. 2556 ต่างประเทศถือครองพันธบัตรรัฐบาลรวมกันกว่า 5.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 176.4 ล้านล้านบาท )

อันดับ 1 คือ จีน 1.28 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 37.17 ล้านล้านบาท ) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 1.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 35.91 ล้านล้านบาท ) อันดับ 3 เป็นของกลุ่มสถาบันการเงินในประเทศแถบทะเลแคริบเบียน ( บาร์ฮามาส เบอร์มิวดา หมู่เกาะเวอร์จิน หมู่เกาะเคย์แมน เนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส และปานามา ) ถือครองพันธบัตรสหรัฐรวมกัน 288,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 9.07 ล้านล้านบาท )

 

 

 

ส่วนกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ที่รวมถึงเวเนซุเอลา เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย บาห์เรน อิรัก อิหร่าน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แอลจีเรีย กาบอง ลิเบีย และไนจีเรีย ถือครองเป็นอันดับ 4 มีปริมาณพันธบัตรสหรัฐครอบครองรวมกัน 258,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 8.12 ล้านล้านบาท ) อันดับ 5 ได้แก่ บราซิล 256,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 8.06 ล้านล้านบาท )

อันดับ 6 เป็นของไต้หวัน 186,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 5.85 ล้านล้านบาท ) สวิตเซอร์แลนด์อยู่ในอันดับ 7 ด้วยสถิติ 178,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 5.6 ล้านล้านบาท ) อันดับ 8 เป็นของเบลเยียม 168,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 5.29 ล้านล้านบาท ) อันดับ 9 ได้แก่ สหราชอาณาจักร รวมถึงหมู่เกาะแชนเนล และเกาะแมน 157,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 4.94 ล้านล้านบาท )

และปิดท้ายใน 10 อันดับแรกคือ ลักเซมเบิร์ก 174,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 5.48 ล้านล้านบาท ) สำหรับประเทศไทย ถือครองเป็นอันดับที่ 23 ด้วยปริมาณ 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 1.38 ล้านล้านบาท )

 

 

นายจู กวงเหยา (Zhu Guangyao) รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังของจีน ในฐานะเจ้าหนี้อันดับ 1 ของสหรัฐ ได้ออกมาเตือนสหรัฐอเมริกา ว่า ขณะนี้วิกฤติเพดานหนี้ของสหรัฐฯ กำลังเริ่มทำร้ายความเชื่อมั่นของจีน และเศรษฐกิจโลก ซึ่งทางการสหรัฐฯ ควรเริ่มเจรจาการเพิ่มงบประมาณชำระหนี้อย่างจริงจัง เนื่องจาก วิกฤติดังกล่าวยืดเยื้อมานานถึง 2 สัปดาห์แล้ว และกำลังสร้างความปั่นป่วนและหายนะมาสู่ประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเศรษฐกิจที่ได้รับอิทธิพลจากสหรัฐโดยตรง

 

 

ขณะที่ นายทาโร่ อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่น ได้แสดงความกังวลหากสหรัฐประสบความล้มเหลวในการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งขีดเส้นตาย วันที่ 17 ต.ค.นี้ เพราะจะทำให้มูลค่าพันธบัตรสหรัฐที่ญี่ปุ่นถือครองอยู่ลดน้อยลง 
 

 


LastUpdate 10/10/2556 10:45:24 โดย : Admin
24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 7:44 pm