การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาของรัฐบาล ที่ไม่มีความต่อเนื่อง และไม่มีการวางแผนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยนโยบายส่วนใหญ่ต้องการเห็นผลในระยะสั้น ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งจากนโยบายรถคันแรก โครงการรับจำนำข้าว ได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่น การขยายการลงทุนในไทยของนักลงทุนต่างชาติ และกระทบการใช้จ่ายประเทศ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลง
โดยผลสำรวจซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ของบริษัท ไพร้ซ วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส ประเทศไทย (PwC) จำนวน 478 คน ในเดือน มิ.ย.-ส.ค. 2556 พบว่า ซีอีโอถึง 42% แสดงความมั่นใจการเติบโตธุรกิจใน 12 เดือนข้างหน้า เพิ่มจากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา ที่เชื่อมั่นเพียง 36% ส่วนแนวโน้มเติบโตระยะ 3-5 ปี มีซีอีโอถึง 52% ที่มั่นใจ ซึ่งซีอีโอถึง 68% มีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มปีหน้า โดยส่วนใหญ่ 35% มองว่าจีน และสหรัฐ เป็นตลาดหลักของการลงทุนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
โดยประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีจุดแข็งทางภาคบริการ ได้แก่ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ยังเป็นแหล่งดึงดูดเงินลงทุน ส่วนประเทศที่จัดอันดับให้เป็นม้ามืดทางเศรษฐกิจ โดยมีศักยภาพในการเติบโตในระยะยาว ได้แก่ อินโดนีเซีย มีน้ำหนัก19% พม่า 11% และจีน 8% ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้รับการถูกจัดอันดับในครั้งนี้
นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่การลงทุนจะไหลเข้าไปพม่า ส่วนการลงทุนในประเทศไทยก็ยังมีอยู่ แต่รูปแบบและประเภทอาจเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งอนาคตต้องขยับขยายออกไปที่พม่าและอินโดนีเซีย เพราะยังมีแรงงานราคาต่ำ ดังนั้นรัฐบาลคงต้องเริ่มกำหนดทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ชัดเจนว่าจะไปทางไหนแน่ เพื่อรักษาฐานการลงทุนที่มีอยู่ในประเทศไว้
ผลสำรวจดังกล่าว ยังสอดคล้องกับมุมมองของผู้บริหารในประเทศ ที่เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักธุรุกิจ ซึ่งส่งผลให้ดัชนีเศรษฐกิจส่งสัญญาณติดลบเป็นครั้งแรก โดยผลสำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทจำนวน 403 คน ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม-2 กันยายน 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่า ดัชนีทางเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคม มีค่า -2 และคาดว่าจะมีค่า -1 ในเดือนกันยายนนี้ โดยดัชนีเศรษฐกิจมีค่าติดลบเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งในช่วง 5 เดือน ที่ผ่านมา
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่
1.สภาพเศรษฐกิจไทย ได้ 4.5 คะแนน
2.ความต้องการของตลาดที่ลดลง ได้ 4.5 คะแนน
3.ต้นทุนค่าขนส่งและพลังงาน ได้ 4.3 คะแนน
4.สภาพเศรษฐกิจโลก ได้ 4.1 คะแนน
5.การขาดแคลนแหล่งเงินทุน 3.9 คะแนน
ข่าวเด่น