กสิกรไทยฟันธง ไทยวางตัว “ประตูสู่อาเซียนตอนบน” ดูดต่างชาติลงทุนพรึ่บ ชี้เทรนด์เม็ดเงินญี่ปุ่นพร้อมลงทุนไทยเพียบ วางกลยุทธ์ผนึกแบงก์พันธมิตร 10 ประเทศ พาเหรดลงทุนไทย พร้อมต่อยอดบริการจับคู่ธุรกิจ 400 คู่ ชูเครือข่ายแข็งแกร่งช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจ
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทยเพื่อรับกับการเปิดสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) นั้น จะเป็นไปในลักษณะ “ประตูสู่อาเซียนตอนบน” (Gateway to Upper ASEAN) ซึ่งจะเป็นการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจในไทย เพื่อขยายและต่อยอดธุรกิจไปสู่ประเทศอื่นๆ รอบข้างที่ยังมีศักยภาพการเติบโตต่อไป โดยเฉพาะปริมาณเงินลงทุนจากธุรกิจญี่ปุ่นที่ยังคงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียนและไทย
เขากล่าวอีกว่า เมื่อเปิดเออีซีแล้ว นอกจากการแข่งขันเรื่องการค้าขายระหว่างประเทศกันแล้ว ธนาคารประเมินว่า การแข่งขันเพื่อดึงปริมาณเงินลงทุนให้เข้าประเทศก็จะเป็นอีกมุมหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งไทยถือว่าได้เปรียบด้านทำเล และมีศักยภาพที่ดีมากในสายตานักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น
“ในมุมมองของนักลงทุนญี่ปุ่น เริ่มเปลี่ยนมุมมองมาโฟกัสการลงทุนในไทยเป็นหลักด้วยนโยบาย Thailand Plus One” จากเดิมที่เคยมองจีนเป็นหลัก โดยนโยบายนี้ ญี่ปุ่นมองว่าเลือกให้ไทยเป็นศูนย์กลางที่เขาจะลงทุนหลัก เช่นวางสำนักงานภูมิภาคไว้ที่นี่ แล้วกระจายการผลิตบางส่วนไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม พม่า เป็นต้น เพราะต่อไปภูมิภาคนี้จะเป็นเสมือนสายการผลิต หรือซัพพลายเชนเดียวกันแล้ว”
เพื่อรับกับทิศทางการเติบโตดังกล่าว นายทรงพลกล่าวว่า ธนาคารได้วางกลยุทธ์พร้อมรับมือกับกลุ่มธุรกิจจากญี่ปุ่นที่จะเข้ามาในภูมิภาคนี้ โดยจับมือเป็นพันธมิตรโดยตรงกับธนาคารขนาดกลางในญี่ปุ่นแล้ว 24 ราย และยังจับมือโดยผ่านเจบิคอีก 28 ราย ขณะเดียวกันยังมีธนาคารพันธมิตรในเกาหลีอีก 2 ราย ในอาเซียนอีก 5 ราย และในยุโรปอีก 3 ราย เพื่อผนึกกำลังและส่งต่อบริการลูกค้าระหว่างกัน
นายทรงพลกล่าวอีกว่า ในเดือน พ.ย. นี้ ธนาคารเตรียมจะจัดประชุมพบปะนักลงทุนไทยกับต่างประเทศครั้งใหญ่ โดยมีธนาคารพันธมิตรในประเทศต่างๆ ดังกล่าวนำลูกค้าธุรกิจเข้ามาเจรจาเพื่อจับคู่ทางธุรกิจ โดยธนาคารจะช่วยประสานงาน จัดเตรียมระบบบริการทางการเงินและบริการที่ปรึกษาด้านการเงินไว้รองรับหากลูกค้าสนใจร่วมมือกัน ไม่ว่าจะในฐานะคู่ค้าหรือพันธมิตรที่ร่วมลงทุนด้วยกันก็ตาม ซึ่งคาดว่าจะคู่เจรจาเพื่อจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 400 คู่ธุรกิจ
“ปัจจุบันเรามีฐานลูกค้าที่เป็นธุรกิจจากญี่ปุ่นเข้ามาค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่ธุรกิจเหล่านี้จะใช้ระบบธุรกรรมกับธนาคารในประเทศไทย เพราะมีระบบและเครือข่ายที่กว้างขวางกว่า ซึ่งเราก็เข้าไปจับตลาดส่วนนี้ค่อนข้างมาก จนปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดประมาณ 16% เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับแบงก์รายใหญ่จากญี่ปุ่นที่เข้ามาให้บริการในไทย แต่แบงก์เหล่านี้จะให้บริการด้านสินเชื่อเป็นหลัก ฉะนั้น ตลาดอาจจะต่างกันอยู่”
อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินถึงแนวโน้มในระยะต่อไปที่น่าจะเห็นธนาคารรายใหญ่จากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนกิจการธนาคารโดยตรงในไทยมากขึ้น ดังที่เห็นธนาคารรายใหญ่จากญี่ปุ่นเข้ามาซื้อกิจการธนาคารไทยนั้น เขาให้ความเห็นว่า ด้วยลักษณะการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรกับธนาคารขนาดกลางในญี่ปุ่นจะสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับธนาคารรายใหญ่เหล่านี้ได้ เพราะธนาคารมีความเชี่ยวชาญในตลาดนี้อยู่ก่อนแล้ว รวมถึงมีเครือข่ายบริการที่แข็งแกร่ง ขณะที่การเชื่อมต่อบริการและส่งต่อลูกค้าระหว่างกันก็ร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรได้อย่างต่อเนื่อง จึงไม่กังวลว่าจะเสียตลาดนี้เมื่อแบงก์ใหญ่จากญี่ปุ่นเข้ามารุกตลาดเอง
ข่าวเด่น