บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "ประชุม กนง. วันที่ 16 ต.ค. 2556คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสัญญาณเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย"
ประเด็นสำคัญ
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% เพื่อประคองโมเมนตัมของระบบเศรษฐกิจหลังมีการปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2556 แม้ว่าภาคการส่งออกจะเริ่มกลับมาขยายตัว สอดคล้องกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
• ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำและคงยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวลในระยะข้างหน้า คงเป็นปัจจัยสนับสนุนความต่อเนื่องของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย รวมถึงเปิดทางเลือกเชิงนโยบายของ กนง. ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจไทยทรุดตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
• อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กอปรกับสภาพคล่องในตลาดการเงินที่มีโอกาสทยอยตึงตัวขึ้น หากทางการต้องการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ก็คงต้องเผชิญกับข้อจำกัดของการส่งผ่านนโยบายการเงินในระดับที่เข้มข้นขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมรอบที่เจ็ดของปี 2556 ในวันที่ 16 ตุลาคม 2556 นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ท่ามกลาง โมเมนตัมของเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแรง อันส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2556 ลงจาก 4.0% เหลือ 3.7% แม้ว่าภาคการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัว ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความชัดเจนมาก
ทั้งนี้ ด้วยอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่ทรงตัวอยู่ระดับต่ำและคงยังไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวลในระยะข้างหน้า ก็คงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ทางการสามารถประคองแรงส่งการผ่อนคลายนโยบายการเงินได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีช่องว่างเพียงพอที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม หากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปดังที่คาด ท่ามกลางการฟื้นตัวที่เปราะบางของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นวิกฤติด้านการคลังของสหรัฐฯ ที่ยังไม่คลี่คลาย
? พัฒนาการเชิงบวกของเศรษฐกิจโลก คงช่วยหนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้
หากพิจาณาถึงเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีความชัดเจนมากขึ้น จากเศรษฐกิจยูโรโซนที่สามารถหลุดพ้นจากภาวะถดถอยที่กินเวลานาน เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีพัฒนาการที่ดีต่อเนื่อง รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายด้านการคลัง ในขณะที่เศรษฐกิจจีนก็เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่ชะลอตัวลงในช่วงกลางปี ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแกนหลักคงมีอานิสงส์ไปยังภาพการฟื้นตัวของภาคส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งสะท้อนผ่านมูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. 56 ที่สามารถพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากที่หดตัวติดต่อกันถึง 4 เดือน โดยเป็นการขยายตัวของการส่งออกไปยังแทบทุกประเทศคู่ค้าหลัก (ยกเว้นญี่ปุ่นที่หดตัวในอัตราที่น้อยลง) ซึ่งน่าจะช่วยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี ท่ามกลางแรงส่งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คงต้องใช้เวลานานกว่านั้นในการค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น
? อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ น่าจะหนุนให้ กนง. สามารถที่จะคงการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หากมีความจำเป็น
ท่ามกลางสภาวะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และยังคงไม่เป็นประเด็นที่ต้องกังวลในระยะถัดไป รวมทั้งคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในปีหน้าที่คงมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในขอบเขตที่จำกัด คงเป็นปัจจัยหลักสนับสนุนให้ กนง. สามารถที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 2.50 อย่างต่อเนื่องในระยะข้างหน้า อันถือว่าเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อการดูแลเสถียรภาพและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การปิดตัวลงบางส่วนของหน่วยงานภาครัฐ และส่งผลให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐจำนวนมากต้องหยุดงานชั่วคราวอย่างไม่มีกำหนดโดยไม่ได้รับค่าจ้าง นอกเหนือไปจากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลให้ภาคเอกชนอาจต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดการเงิน
ทั้งนี้ หากผลกระทบของปัญหาวิกฤติการคลังของสหรัฐฯ ยืดเยื้อออกไปและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ก็เชื่อว่า กนง. ยังคงมีช่องว่างทางนโยบายเพียงพอที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีกหากจำเป็น เพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
? อย่างไรก็ตาม ภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กอปรกับสถาพคล่องของระบบการเงินไทยที่คงทยอยตึงตัวขึ้น อาจสร้างความท้าทายต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเร่งตัวอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 79.2% ของจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 2/2556 คงทำให้การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เผชิญกับความท้าทายมากขึ้น เนื่องจากอาจสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนั้น การส่งผ่านนโยบายการเงินในระยะถัดไปอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น จากสภาวะของระบบการเงินไทยที่คงทยอยตึงตัวขึ้น ตามการส่งสัญญาณถึงการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดที่จะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาข้างหน้า รวมไปถึงวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของตลาดการเงินโลก ซึ่งก็คงนำไปสู่ประสิทธิผลของนโยบายการเงินที่ไม่สามารถส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริงได้อย่างเต็มที่
กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การฟื้นตัวที่ค่อนข้างล่าช้าของการส่งออก ประกอบกับการใช้จ่ายของภาคเอกชนภายในประเทศที่ชะลอตัวลง คงทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2556 สามารถขยายตัวได้ราว 3.7% (กรอบคาดการณ์ 3.5-4.0%) ต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาวที่ประมาณ 4.5% อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ กนง. ยังคงต้องรักษาความต่อเนื่องของสภาวะผ่อนคลายทางการเงินผ่านการคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
อย่างไรก็ดี กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวน และผลกระทบที่มีต่อค่าเงินและตลาดทุนของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย นอกเหนือจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ก็คงจะเป็นปัจจัยท้าทายการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า เนื่องจากจะสร้างความซับซ้อนให้กับ ธปท.ในการเลือกการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หากสถานการณ์เศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ไม่สามารถประคองทิศทางทรงตัว หรือทยอยดีขึ้นได้ตามคาด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ข่าวเด่น