ในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกทั้งใบเชื่อมโยงถึงกันได้หมด ความเสี่ยงในชีวิตจึงย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะเมื่อยักษ์เศรษฐกิจตัวใดล้มลง ย่อมส่งเสียงดังป่วนยักษ์ตัวอื่นๆ และมนุษย์ตัวเล็กๆไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บวกกับสถานการณ์ในไทยเองที่ไม่น่าไว้วางใจ จากการเข้าสู่ยุคที่มีค่าครองชีพพุ่งกระฉูดตามราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและแก๊สที่ไต่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นการมีอาชีพเสริมหรืออาชีพสำรองไว้ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนมองหา หรือบางคนอาจจะลงมือทำแล้ว ซึ่งอาชีพสำรองนั้นมีให้เลือกทำหลากหลายตามความชอบและถนัด แต่มีอาชีพหนึ่งที่เป็นงานไม่หนักเกินไป ทำได้แม้ทุนน้อยและสร้างรายได้ที่พออยู่ได้ไปจนถึงดีกว่าอาชีพหลักเสียอีก อาชีพที่ว่านี้คือ “การเพาะเห็ด” นั่นเอง ดังตัวอย่างสองสาวสวย คุณปรียนันท์ แสงดี หรือคุณกุ๊ก และ คุณนัยนา ยังเกิด หรือ คุณจุ๊บ ที่จูงมือกันมาเป็นเจ้าของโรงเรือนเพาะเห็ดขนาดย่อมๆ เป็นอาชีพเสริม ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจสำหรับการเริ่มต้น ขายดิบขายดีจนผลิตเห็ดกันไม่ทันเลยทีเดียว
@สองสาวแบงก์ร่วมหุ้นจับธุรกิจ “เพาะเห็ด” เปิด Mushroom Cottage Farm
ในเวลานี้กล่าวได้ว่า หากถามหาโรงเรือนเพาะเห็ด หรือ “Mushroom Cottage Farm” กับผู้อยู่อาศัยในเขตตลาดสดเทศบาลบางบัวทอง จ.นนทบุรี น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะเป็นโรงเพาะเห็ดที่มีเจ้าของเป็นสาวสวย 2 คน เป็นที่เจริญตาเจริญใจแก่ลูกค้าที่มาเยือนยิ่งนัก ซึ่งตั้งอยู่เลยวัดจีนหรือวัดเล่งเน่ยยี่ 2 มาเล็กน้อย
โรงเรือนเพาะเห็ดแห่งนี้ จำหน่ายแต่เห็ดสด ๆ จากฟาร์มทุกวัน ปลอดภัยจากสารเคมี 100% โดยจำหน่ายทั้งปลีก-ส่ง พร้อมก้อนเชื้อคุณภาพดี นอกเหนือจากนี้ยังเปิดอบรมให้แก่ผู้ที่สนใจศึกษาการเพาะเห็ดแบบเป็นกลุ่มหรือคณะทุกขั้นตอนอย่างไม่หวงวิชา โดยมี อาจารย์สิริโรจน์ เจนเจริญ หรือ ครูจื้อ วิทยากรจากสำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ เพื่อให้สามารถไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัวได้จริง ๆ
คุณกุ๊กและคุณจุ๊บ เปิดเผยว่า ได้ร่วมหุ้นกันทำธุรกิจเพาะเห็ด เนื่องจากความสนใจส่วนตัว และเล็งเห็นว่าเป็นอีกอาชีพที่น่าจะไปได้ดี เนื่องจากทั้งสองคนต่างมีอาชีพหลักเป็นของตัวเองอยู่แล้ว โดยปัจจุบัน คุณกุ๊ก ดูแลในส่วนของแผนกโฆษณา ทำหน้าที่เป็น Account Executive (AE) หรือเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ทำหน้าที่ประสานงานด้านมีเดีย เอเยนซี ดูแลโฆษณาผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต สินเชื่อบุคคลและด้านหลักทรัพย์ให้กับธนาคารธนชาต และยังมีธุรกิจร้านเสื้อผ้าและไอศกรีมมะม่วงอยู่ที่สวนจตุจักร ส่วนคุณจุ๊บ อยู่แผนกเดียวกัน แต่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงานกับสื่อภายนอก แต่มีความสนใจด้านเพาะเห็ดมานานแล้ว โดยไปอบรมกับอาจารย์สิริโรจน์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ และมาชวนคุณกุ๊กร่วมหุ้นด้วย เพื่อทำธุรกิจเพาะเห็ดอย่างจริงจัง
“มองว่าเห็ดเป็นสินค้าเกษตรที่น่าจะอยู่ได้ เพราะปัจจุบันมีการบริโภคกันมากตามกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ จึงน่าจะไปได้ดี ในขณะที่จุ๊บก็เป็นคนน่ารักและมีความชอบ ความรักที่จะทำด้านเห็ดมานานแล้ว เพราะมีญาติ ๆ บอกว่า เป็นธุรกิจที่ดี และมีความตั้งใจจริงที่จะทำ โดยไปอบรมการเพาะเห็ดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก่อน และกุ๊กมาเรียนรู้ต่ออีกที ประจวบเหมาะกับเพื่อนของจุ๊บที่จะทำด้วยในตอนแรกได้ถอนตัวไป กุ๊กจึงมาทำแทน โดยร่วมกันลงขันประมาณเกือบหลักล้านบาท เพื่อสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดบนที่ดินเช่าของญาติจุ๊บ” คุณกุ๊กเล่าถึงการตัดสินใจมาลงทุนโรงเรือนเพาะเห็ด
ด้านคุณจุ๊บเล่าว่า “ตอนชวนกุ๊กทำ ไม่ได้คาดหวังจริง ๆ ว่า กุ๊กจะตกลงใจมาทำฟาร์มเห็ดด้วยกัน เพราะในขณะนั้นรู้สึกตกใจ เมื่อรู้ว่ากุ๊กจะออกจากงานเพื่อไปขายเสื้อกับไอศกรีม เลยถามว่า ไม่สนใจทำฟาร์มเห็ดเหรอ เพราะเพื่อนที่ไปเรียนด้วยกันถอนตัวไม่ทำ และดีใจที่ได้กุ๊กมาเป็นหุ้นส่วนกัน”
@ได้เก็บผลผลิตขายใน 3 เดือน
เมื่อตกลงปลงใจแล้ว งานก็เริ่มเดินหน้าโดยได้อาจารย์สิริโรจน์มาช่วยรับเป็นที่ปรึกษาและดูแลให้ทุกขั้นตอน ซึ่งอาจารย์ได้พิจารณาปัจจัยหลายอย่าง เช่น สถานที่อยู่ใกล้ตลาดหรือไม่ เพราะเมื่อทำแล้วต้องมีตลาดมารองรับ การอยู่ใกล้โรงเรียนจะได้เป็นแหล่งเรียนรู้ในอนาคต และที่สำคัญคือ ต้องใจรัก ซึ่งต่อมาอาจารย์เล็งเห็นว่า ทำได้
อาจารย์สิริโรจน์เล่าว่า “เมื่อครั้งที่คุณจุ๊บและเพื่อนมาเรียน ตอนแรกแอบคิดในใจว่า คุณจุ๊บและเพื่อน ซึ่งเป็นสาวสวยทั้งคู่ ต้องเป็นแอร์โฮสเตสแน่เลย เพราะนาน ๆ จะมีผู้หญิงสวย ๆ มาเรียนเพาะเห็ด โดยปรกติจะเป็นเกษตรกรหรือชาวบ้านมากกว่า แต่เมื่อมาเรียนแล้วปรากฏว่า กรณีคุณจุ๊บ เขาทำได้จริงๆ ตั้งใจมาเรียน เพราะใจรักและจะทำจริงจัง ตอนทำก้อนเห็ดเขาสามารถขยำส่วนผสมได้โดยไม่กลัวความสกปรก”
เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบแล้ว งานสร้างโรงเรือนเพาะเห็ดจึงเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มงานก่อสร้างเมื่อต้นปี 2556
“มีความคิดว่า ถ้าเราตัดสินใจแล้ว ต้องลงมือทำเลย จึงเริ่มงานลงเสาทำโรงเพาะเห็ดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556-มิถุนายน 2556 จนกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเริ่มเปิดก้อนเห็ด จากนั้นได้ขายเห็ดครั้งแรกในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยลูกค้ารายแรกเป็นร้านมินิมาร์ทในหมู่บ้าน มีรายได้ก้อนแรกประมาณ 300 บาท ดีใจมาก เขาประเดิมให้ เวลานี้ยังเป็นลูกค้าประจำอยู่
นอกจากนี้ยังไปเช่าแผงข้างร้านขายปลาในตลาด เพื่อเอาเห็ดไปขายกันเองด้วย โดยขาย 2 คน ปรากฏว่า ขายดีมาก ประมาณ 3 ชั่วโมงขายหมด ซึ่งได้เงินก้อนแรกจากการขายเห็ดกว่า 2,000 บาท มีความสุขมาก แต่ได้ขายวันแรกและวันเดียวเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นมีแม่ค้าและลูกค้ามารับซื้อเองถึงโรงเพาะเห็ด แต่ยังมีบางรายที่ไปส่งถึงที่ เป็นร้านขายอาหารเพื่อสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ” คุณกุ๊กเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
หุ้นส่วน 2 สาวนี้ยังแบ่งหน้าที่กันทำและดูแลกิจการตามวันที่ว่าง โดยคุณกุ๊กมีหน้าที่ดูแลด้านการตลาด หาตลาดกระจายสินค้า และบางครั้งยังหิ้วเห็ดไปส่งลูกค้าเองด้วย หรือไปขายในที่ทำงาน (ธนาคารธนชาต) ขณะที่คุณจุ๊บทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนรู้จัก โดยคุณกุ๊กจะมาช่วยดูแลในวันพฤหัสบดีเป็นหลัก ซึ่งเป็นวันที่เหลือในรอบสัปดาห์พอดี เนื่องจากเธอต้องอยู่ที่ร้านธุรกิจเสื้อและไอสครีมในสวนจตุจักรช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ ส่วนวันจันทร์-อังคาร-พุธ-ศุกร์ ไปทำพิเศษที่ธนาคารธนชาตจึงเท่ากับเธอทำงานครบ 7 วันต่อสัปดาห์พอดี ส่วนคุณจุ๊บมาดูแลโรงเพาะเห็ดในวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนวันที่เหลือมีอาจารย์สิริโรจน์และลูกจ้างอีก 2 คนช่วยกันดูแลอย่างแข็งขัน
@ผลผลิตเป็นที่พอใจ สำหรับการเริ่มต้น
ในเวลาเพียงประมาณ 3 เดือน ผลผลิตเห็ดจาก Mushroom Cottage Farm ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจสำหรับการเริ่มต้น โดยในขณะนี้โรงเรือนเพาะเห็ดของ 2 สาวสวยมีเห็ดอยู่ด้วยกัน 4 ชนิด ได้แก่ เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางนวลสีชมพู ซึ่งทั้ง 3 ชนิดนี้มีราคาขายหน้าฟาร์ม 80 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเห็ดเป๋าฮื้อ มีราคาแพงกว่าหน่อยอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม เพราะใช้เวลาพักเชื้อนานกว่า
คุณกุ๊กอธิบายว่า “ เห็ดเหล่านี้ชอบอากาศเย็น อุณหภูมิในโรงเรือนอยู่ที่ประมาณ 28-32 องศาเซลเซียส ใช้สปริงเกิลรดน้ำทุก 2-3 ชั่วโมง ถ้าอากาศร้อนต้องฉีดน้ำเพิ่ม ในขณะนี้ยังมี 3 โรงเรือน แต่ละโรงมีก้อนเชื้อเห็ด 5,000 ก้อน ซึ่งแต่ละถุงให้ผลผลิต 6-8 รุ่น และอยู่ได้นาน 4-6 เดือน
ปัจจุบันมีผลผลิตอยู่ที่ 50-100 กิโลกรัมต่อวัน แต่ยังไม่พอขาย ทำให้มียอดสั่งซื้อที่ต้องรอกันข้ามวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ลูกค้าให้การตอบรับที่ดี ถือเป็นความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจสำหรับการเริ่มต้น”
ในอนาคตทั้งสองสาวจึงมีแนวคิดที่จะขยับขยายต่อไป แต่ไม่ได้เร่งรีบเพราะต้องการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยจะขยายสร้างโรงเรือนเพิ่มอีก รวมถึงเพิ่มชนิดของเห็ด 1-2 ชนิดด้วย เช่น เห็ดโคน เป็นต้น ซึ่งจะเลือกเห็ดที่ชอบอยู่ในอุณหภูมิเดียวกัน และผลิตก้อนเชื้อเพิ่มขึ้น เพื่อขายทั้งเห็ดและก้อนเชื้อซึ่งมีราคาขายอยู่ที่ 12 บาท
นอกเหนือจากนี้ สองสาวยังคิดทำเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเห็ดด้วย เป็นประเภทอาหารว่าง โดยวางแผนการตลาดไว้ว่าในอนาคตจะส่งออกไปขายในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะให้บรรดาแม่บ้านแถวนี้มาช่วยหรือให้เด็ก ๆ ในช่วงปิดเทอมมาช่วยทำ เพื่อช่วยให้พวกเขามีรายได้ไปด้วยในตัว ส่วนในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เช่น วันปีใหม่จะทำเป็นกระเช้าเห็ดขาย และขยายตลาดโดยอาจไปขายตามห้างค้าปลีกต่าง ๆ
@ได้ทั้งเงินและความสุขใจ
ความสำเร็จเบื้องต้นจากการเพาะเห็ด นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าเป็นธุรกิจที่ทำเงินได้ดีแล้ว ทั้งสองสาวยังเห็นพ้องต้องกันอีกว่า อาชีพนี้ ธุรกิจนี้ยังให้ความสุขทางใจด้วยในเวลาเดียวกัน สาเหตุมาจาก เหมือนได้กลับคืนสู่ธรรมชาติ ได้อยู่กับธรรมชาติ ได้พักผ่อน ผ่อนคลายหลังจากทำงานหนักมามากแล้ว
ประการต่อมา คือ การได้ช่วยเหลือคนอื่นผ่านการจัดอบรมเผยแพร่ให้ความรู้ด้านเห็ดแก่ผู้สนใจทั่วไป เป็นการช่วยเหลือบุคคลอื่นให้มีอาชีพ โดยวิทยากรมือ 1 อย่าง อ.สิริโรจน์ ซึ่งอาจารย์ยินดีสอน ให้คำปรึกษาแก่ทุกคนที่เข้ามาหา มาเยี่ยมชมฟาร์มหรือโทรศัพท์มาฟรี ในแต่ละวันจึงได้เห็นภาพอาจารย์อธิบายให้ผู้มาเยือนฟังกันหลายรอบได้โดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพราะชีวิตนี้ของอาจารย์ได้อุทิศแล้วเพื่อเผยแพร่การเพาะเห็ดให้กับทุกคน
สำหรับใครที่ต้องการให้ อ.สิริโรจน์ เปิดอบรมจนจบกระบวนการใช้เวลา 1 วัน บวกค่าอุปกรณ์พร้อมอาหารกลางวันและคอฟฟี่เบรกมีค่าใช้จ่ายที่ 1,450 บาท / ท่าน เท่านั้น
@เคล็ดไม่ลับ “สูตรเพาะเห็ด” ฉบับอาจารย์ดีพร้อมผู้ล่วงลับ
สำหรับผู้ที่ยังไม่มีเวลามาฝึกอบรม สามารถนำสูตรการเพาะเห็ดไปทดลองทำได้ หรือเริ่มทำเป็นโรงเรือนเล็ก ๆก่อนก็ได้ ซึ่งอาจารย์กรุณาอธิบายไว้ค่อนข้างละเอียดและสามารถติดต่อสอบถามถึงแหล่งวัสดุที่จำเป็นต้องใช้ได้ตลอดเวลา
การดำเนินการเริ่มจาก “โรงเรือนเพาะเห็ด” ก่อน ซึ่งอาจารย์เน้นย้ำว่า ต้องอาศัยหลักการสำคัญ 4 อย่าง ดังนี้คือ
1. อุณหภูมิ เช่น เห็ดนางฟ้าภูฏาน จะชอบอุณหภูมิที่ 28-32 องศาเซลเซียส
2. ความชื้น อยู่ที่ระดับ 70-90%
3.อากาศ ต้องมีหน้าต่างระบายอากาศได้ เพราะเห็ดใช้ก๊าซออกซิเจนและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา จึงจำเป็นต้องระบายออก เพราะหากมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่มากเกินไปจะทำให้ดอกเห็ดหงิกงอ ไม่สวย ขายไม่ได้ราคา ถือเป็นการเอาหลักวิทยาศาสตร์มาใช้
4.ความสะอาด หมายถึง หลังเก็บเห็ดต้องตามเก็บรากหรือโคนเห็ดให้หมด โดยใช้ช้อนชุบแอลกอฮอล์แคะออกมา เพราะหากปล่อยค้างไว้จะทำให้แมลงหวี่มาตอมและนำพาเชื้อราเขียวมาติดเชื้อ หรือแมลงหวี่วางไข่เสียเองและเป็นตัวหนอนกัดกินเห็ดให้เสียหายได้
โรงเรือนเพาะเห็ดสามารถทำได้หลายขนาด ซึ่งของ Mushroom Cottage Farm มีขนาด 4.5 x 9 เมตร สามารถบรรจุก้อนเชื้อได้ 5,000-6,000 ก้อน แต่อาจารย์บอกว่า ผู้ที่คิดจะทำด้านนี้จริง ๆ มีทุนน้อยก็สามารถทำโรงเรือนขนาดเล็กลงได้
@วิธีทำเชื้อเห็ด สำหรับใช้ทำก้อนเชื้อ
-ทำโดยนำเนื้อเยื่อที่ขูดจากดอกเห็ดไปเลี้ยงในอาหารวุ้น PDA ที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อแล้วในหม้อนึ่งความดันไอน้ำ (ซึ่งต้องลงทุนซื้อราคาประมาณ 27,000 บาทแต่ใช้ได้ตลอด) ภายใต้ความดัน 15 ปอนด์/ตารางนิ้ว อุณหภูมิ 121 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15—20 นาที (อาหาร PDA ทำจากน้ำมันฝรั่งต้ม น้ำตาลและวุ้น)
-หลังจากนั้นสังเกตการเติบโตของเห็ด ถ้าเห็ดเจริญเติบโตได้ดีจะได้เนื้อวุ้นที่ยังใสอยู่แสดงว่าใช้ได้ จะไม่เป็นสีขุ่นหรือเขียวหรือดำ ซึ่งสะท้อนการมีแบคทีเรียเจือปนหรือมีราดำ/เขียว
-ขั้นต่อไปนำไปเลี้ยงในข้าวฟ่างที่ผ่านการต้มและนึ่งฆ่าเชื้อแล้วเช่นกัน โดยใส่เชื้อเห็ดลงไปเพาะไว้เป็นเวลา 10 วัน (แต่ละขั้นตอนใช้เวลา 10 วัน) หลังจากนั้นจะได้หัวเชื้อที่พร้อมนำไปผสมในก้อนขี้เลื่อย
อาจารย์อธิบายว่า หัวเชื้อ 1 ขวดเล็ก ๆ ขนาดขวดแบน สามารถนำไปทำก้อนเชื้อได้มากถึง 60 ก้อน ดังนั้นการทำเชื้อเห็ดและทำก้อนเชื้อเอง จะสามารถประหยัดไปได้มากและมีความมั่นใจกว่าว่า เห็ดจะเจริญเติบโตได้ดี เพราะแต่ละฟาร์มมีสูตรการทำก้อนขี้เลื่อยแตกต่างกันไป จึงเป็นที่มาของการขายก้อนเชื้อที่ราคาแตกต่างกันด้วย
สำหรับสูตรทำก้อนขี้เลื่อย ของอาจารย์ก็เด็ดไม่แพ้ใคร โดยเป็นผลงานการพัฒนาของอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ล่วงลับ ที่อาจารย์สิริโรจน์ทำหน้าที่นำมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะต่อไป มีส่วนประกอบดังนี้คือ
1.ขี้เลื่อย ซึ่งเป็นแหล่งให้คาร์โบไฮเดรตแก่เห็ด
2.รำละเอียด เป็นแหล่งให้โปรตีน
3.แร่มอนท์ หรือมอนท์โมริโลไนท์ (Montmorilonite) หรือเถ้าภูเขาไฟนำมาจากอินโดนีเซีย มีราคา 14 บาทต่อกิโลกรัม โดยแร่มอลต์นี้เป็นแหล่งของซิลิกาและซัลเฟอร์ ซึ่งซิลิกาเป็นตัวช่วยด้านการเจริญเติบโต แข็งแรง ต้านเชื้อโรคต่าง ๆ โรคแมลงไม่กวนใจ สำหรับซัลเฟอร์ช่วยในการสร้างโปรตีนมากขึ้น
4.ยิปซั่ม หรือแคลเซียมซัลเฟต ช่วยปรับความเป็นกรด
5.ปูนขาว หรือแคลเซียมคาร์บอเนต ช่วยปรับความเป็นด่าง
6.ดีเกลือ หรือแมกนีเซียมซัลเฟต ช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นใย แต่ใช้มากเกินไปไม่ได้ เพราะจะส่งผลให้มีการสร้างเส้นใยโตเร็ว แต่ไม่ทำให้เห็ดออกเป็นดอก
-หลังจากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดนี้มารวมกันให้ได้ความชื้นที่ 60-65% ซึ่งอาจารย์สิริโรจน์บอกว่า สามารถวัดได้โดยใช้มือกำและก้อนขี้เลื่อยแตกออกมา 2-3 ชิ้น ให้ถือว่าใช้ได้
-ขั้นตอนต่อไป นำส่วนผสมนี้ไปบรรจุถุงขนาด 8x12 นิ้ว ขนาด 800-1,000 กรัมต่อก้อน จากนั้นนำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง พักให้เย็นเป็นเวลา 1-2 วัน
-จากนั้นใส่เชื้อลงไปผสม 1 ช้อนชาและเลี้ยงไว้เป็นเวลา 30 วัน สำหรับเห็ด 3 ชนิด คือ นางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี และเห็ดนางนวลสีชมพู ส่วนเห็ดเป๋าฮื้อต้องเลี้ยงไว้เป็นเวลา 45-60 วัน (ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาแพงกว่า) โดยตั้งไว้ในที่อุณหภูมิห้องปกติเพื่อที่จะได้ตรวจสอบได้ทุกก้อน เพราะหากเกิดปัญหาจะสามารถนำมานึ่งฆ่าเชื้อเพื่อนำมาทำใหม่ได้
-หลังเสร็จสิ้นกระบวนการดังกล่าวก็จะได้ก้อนเชื้อสำหรับนำไปเรียงในโรงเรือนเพื่อให้ออกดอกต่อไป ซึ่งอาจารย์บอกว่าเห็ดจะเจริญเติบโตให้ดอกดีหรือไม่จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 4 ข้อดังที่กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง
-ในขั้นตอนต่อไป เป็นการทำเพื่อให้ได้คุณภาพของดอกเห็ดเหมือนเดิมทุกครั้ง นั่นคือ การให้ฮอร์โมน โดยอาจารย์อธิบายว่า เห็ดที่ออกในครั้งที่ 1-3 จะเป็นเห็ดคุณภาพดี แต่หลังจากนั้นเห็ดจะมีดอกเล็กลง เพราะมีสารอาหารในก้อนเชื้อน้อยลง ในขณะที่เห็ดต้องดึงสารอาหารออกมาเหมือนเดิม จึงจำเป็นต้องเพิ่มฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้เห็ดสร้างดอก
@ก้อนเชื้อ 1 ก้อนให้ผลผลิตสูงสุด 500 กรัม
หลังจากนำเห็ดเข้าโรงเรือนแล้ว เห็ดจะเจริญเติบโตออกมาให้เห็นอย่างน่าชื่นใจ ซึ่งก้อนเชื้อ 1 ก้อน มีอายุ 4-6 เดือน เก็บได้ 6-8 รุ่น ได้น้ำหนักรวม 300-500 กรัม ถ้า 1,000 ก้อนจะได้เห็ดมีน้ำหนักรวม 50 กิโลกรัม โดยหลังออกดอกแต่ละรุ่นแล้วจะใช้เวลาพักหน้าก้อน 10-12 วัน จึงเริ่มออกดอกใหม่
อาจารย์สิริโรจน์ยังเผยเคล็ดลับในการเก็บรักษาเห็ด อีกอย่างว่า ต้องใส่ใบตองกล้วยน้ำว้ารองลงไปในถุงด้วยเพื่อช่วยให้เห็ดสดอยู่ได้นาน เนื่องจากใบตองจะคายก๊าซออกซิเจนออกมา ส่วนเห็ดคายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุลทางอากาศ ทำให้รักษาสภาพเห็ดได้นาน ถือเป็นการนำหลักวิทยาศาสตร์มาช่วยอีกอย่างหนึ่ง โดยหากทำตามนี้จะสามารถเก็บเห็ดไว้ได้ประมาณ 1 สัปดาห์ด้วยกัน
ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็น ต้องปรับอุณหภูมิอยู่ที่ 20-22 องศาเซลเซียส ซึ่งเห็ดจะอยู่ได้ประมาณ 3 สัปดาห์
@ใช้ทุนเริ่มที่ 2,000 บาทก็ทำได้แล้ว
อาจารย์สิริโรจน์เปิดเผยว่า ทุกคนสามารถเริ่มต้นเส้นทางสู่การเป็นเถ้าแก่ได้ที่ทุนเพียง 2,000 บาทเท่านั้น ซึ่งทุนเท่านี้จะสามารถเพาะก้อนเชื้อได้จำนวน 200 ก้อน โดยได้เห็ดประมาณ 60-100 กิโลกรัม จากการเก็บเห็ด 6-8 ครั้งในเวลา 4-6 เดือนและจะมีรายได้ประมาณ 4,800-8,000 บาท (คำนวณจาก ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม x 60-100 กิโลกรัม)
พร้อมกันนี้ยังย้ำว่า ผู้ที่คิดจะเพาะเห็ดจะต้องมีใจรักและต้องศึกษาหาความรู้ เรียนรู้ปฏิบัติงานจริงว่าจะทำได้หรือไม่
แต่หากเป็นไปได้อาจารย์สนับสนุนให้ทำเป็นอาชีพกัน เนื่องจากเป็นอาชีพที่ปลอดภัยต่อสารเคมี
นอกจากนี้ยังได้บุญ ด้วยเป็นการทำการเกษตรโดยไม่มีการทำลายชีวิตและยังส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคอีกต่างหาก เพราะเห็ดมีธาตุอาหารและกรดอะมิโนที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม ทองแดง สังกะสีและเหล็ก เฉพาะเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า และเห็ดเป๋าฮื้อ ที่อยู่ตระกูลเดียวกันนี้ เชื่อว่าสามารถป้องกันโรคหวัด ช่วยการไหลเวียนเลือด และโรคกระเพาะได้ ขณะที่เห็ดชนิดอื่น ๆ มีประโยชน์แตกต่างกันไปและยังสามารถบริโภคได้มาก โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเพิ่มแคลอรี
ดร.ซาราห์ เชนเคอร์ นักโภชนาการจากมหาวิทยาลัยรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ เปรียบเห็ดว่า สามารถเป็น "ซูเปอร์ฟู้ด" ได้พอๆ กับการกินบร็อกโคลี่และผลไม้จำพวกเบอร์รี่ เลยทีเดียว
"หลายการศึกษาพบว่า เห็ดช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ไม่มีไขมัน ไม่มีน้ำตาล ไม่มีเกลือ มีเส้นใย (ไฟเบอร์) และมีวิตามินบีถึง 5 ชนิด คือ บี1, บี2, บี3, บี6 และโฟเลต นอกจากนี้ยังมีเกลือแร่สำคัญ เช่น โพแทสเซียม ค็อปเปอร์ ฟอสฟอรัส และ เหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซเลเนียม ที่ไม่ค่อยพบในผักผลไม้นัก"
จากเหตุดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกในขณะนี้ “เมนูเห็ด”จะเป็นส่วนหนึ่งของอาหารสุขภาพที่กำลังฮอตในปัจจุบัน จึงสามารถทำให้การ “เพาะเห็ด” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสู่การมีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Mushroom Cottage Farm
คุณกุ๊ก 081-8314000 คุณจุ๊บ 081-9031331
ข่าวเด่น