ปัญหาความพิการ ไม่ว่าจะรูปแบบใด ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิต อย่างไรก็ดีเมื่อชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ ทุกชีวิตจึงต้องดำรงอยู่ต่อไป แต่คงจะดีไม่น้อยหากมีเครื่องมือมาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ให้ดีขึ้น หรือแม้แต่สร้างโอกาสในการรับรู้และโอกาสทางการศึกษา เวลานี้โอกาสดี ๆ ที่ว่านี้กำลังมาถึงผู้พิการทางสายตาหรือคนตาบอดแล้ว เมื่อมีการนำเทคโนโลยีใกล้ตัวอย่างโทรศัพท์มือถือหรือแทบเล็ตมาใช้เพื่อสร้างหนังสือเสียงให้ได้ฟังกัน โดยอาศัยแอพพลิเคชั่นใหม่ชื่อว่า “Read for the Blind”
ปัจจุบันไทยมีผู้พิการทางสายตาอยู่มากกว่า 7 แสนคน คนกลุ่มนี้เดิมสามารถรับรู้ข้อมูลผ่านการสัมผัสหนังสือเบรลล์ ซึ่งขณะนี้มีพัฒนาก้าวหน้าไปหลายอย่าง เช่น มีโปรแกรมอัตโนมัติและเครื่องพิมพ์ที่สามารถเปลี่ยนตัวอักษรปรกติไปเป็นอักษรเบรลล์ได้อย่างรวดเร็ว หรือระบบแปลงตัวอักษรหรือข้อความเป็นเสียง แต่ไม่ใช่คนตาบอดทุกคนที่มีโอกาสเข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้และไม่ใช่คนตาบอดทุกคนที่อ่านอักษรเบรลล์ได้ ดังนั้นการฟังเสียงและฟังหนังสือเสียง จึงเป็นทางเลือกสำคัญของคนตาบอดที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือความรู้ต่าง ๆ
แต่การผลิตหนังสือเสียงต้องใช้ทั้ง “คน”และ “เวลา” ในการอ่านหนังสือแต่ละเล่มจนกว่าจะจบและเป็นหนังสือเสียงที่เสร็จสมบูรณ์ แต่สภาพสังคมที่เร่งรีบในปัจจุบัน รวมไปถึงความไม่สะดวกในการเดินทางเพื่อไปอ่านหนังสือเสียง แม้ว่าอยากจะไป ทำให้มีการสร้างหนังสือเสียงไม่เพียงพอต่อความต้องการและทำให้หนังสือเสียงสำหรับคนตาบอดของไทยขาดแคลน
ในเวลานี้ห้องสมุดคนตาบอดและผู้พิการทางสื่อสิ่งพิมพ์แห่งชาติ มีหนังสือเพียง 5,000 เล่มเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอ ทางห้องสมุดยังต้องการอาสาสมัครมาร่วมผลิตหนังสือเพิ่มอีก จากเหตุดังกล่าวจึงเป็นที่มาของแนวคิด “สร้างหนังสือเสียงด้วยตนเอง ทุกที่ ทุกเวลา” เกิดขึ้นภายใต้โครงการเพื่อสังคมล่าสุดของบริษัทไทยซัมซุง อิเลคทรอนิคส์และพันธมิตร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีบี, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน)หรือเอไอเอส บริษัท กูเกิล ประเทศไทย จำกัดและคุณณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ พิธีกรรายการดัง โดยได้เปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการแล้ว ชื่อว่า “Read for the Blind” ซึ่งมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานง่ายในชื่อเดียวกันด้วย คือ “Read for the Blind” สำหรับใช้บนสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ต ที่ช่วยเอื้อให้ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมกันช่วยสร้างหนังสือเสียงได้ด้วยตนเอง ทุกที่ทุกเวลา ผ่านอุปกรณ์สื่อสารส่วนตัวของตนเอง
คุณบี๋-อริยะ พนมยงค์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ บริษัทกูเกิล ฯเปิดเผยว่า โครงการนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการริเริ่มของคุณณัฐ-ณัฐวุฒิ ซึ่งไปเจอบูธให้อัดเสียงเพื่อทำหนังสือเสียงในห้างแห่งหนึ่งและได้เข้าไปเพื่อจะอ่านบ้าง แต่ปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนต่อคิวยาวเหยียดไปอีก 4 ชั่วโมง จึงไม่ได้อัด และหลังจากนั้นได้พยายามคิดหาวิธีเพื่ออัดหนังสือเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือที่เป็นของใช้อยู่ใกล้ตัวเจ้าของเกือบตลอด 24 ชั่วโมง
คุณณัฐเล่าวว่า “หลังจากไม่ได้อัดเสียงที่ห้าง เมื่อกลับไปบ้าน เริ่มมีความคิดว่า ทำไมเราไม่อัดใส่โทรศัพท์มือถือ เพราะมือถืออัดเสียงได้ หลังจากนั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันเกิดของภรรยาจึงไปที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่ดินแดง เขาจะสอนการใช้ซอฟต์แวร์เพื่ออัดประมาณ 1 ชั่วโมง ยอมรับว่าเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้อัดเสียงนั้นมีคุณภาพที่ดีมาก แต่เชื่อว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากอยากมาอ่าน แต่มาไม่ได้ จากนั้นจึงลองใช้โทรศัพท์มือถืออัด ก็พบว่าชัดดี แต่ถ้าผิด ต้องเริ่มอัดใหม่ จึงทำให้ไม่มีวันจบ หลังจากนั้นได้ลองค้นคว้าว่า มีโปรแกรมที่ถอยหลังไปครึ่งวินาทีหรือ 1 พยางค์เพื่อให้อัดใหม่หรือไม่ ซึ่งพบว่ามี แต่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำอย่างไรจะนำมาใช้กับโทรศัพท์ได้”
หลังจากนั้นเขาได้นำแนวคิดนี้ไปปรึกษาเพื่อน ๆ ที่เป็นอาจารย์ โดยเสนอจะหาทุนสักก้อนประมาณ 1-2 แสนบาทเพื่อให้นักเรียนคิดหาวิธีทำ ต่อมาได้มาคุยกับคุณบี๋-อริยะ ซึ่งนำเรื่องไปปรึกษาต่อกับทางซัมซุง จนเกิดเป็นความร่วมมือกันตามมา โดยมีเอไอเอสและเอสซีบีมาร่วมด้วย
นายวิชัย พรพระตั้ง รองประธานธุรกิจโทรคมนาคม บริษัท ไทยซัมซุงฯเปิดเผยว่า “มีความคิดว่า ถ้าทำแล้วจะช่วยตอบโจทย์ทางสังคมได้และจะต้องมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์อีกมากและได้พบว่า เอไอเอสและเอสซีบีมีแนวคิดที่จะทำแบบนี้เหมือนกัน
ด้านนางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ของเอไอเอสกล่าวว่า พอทางซัมซุงมาบอกว่าจะทำโครงการนี้ ก็รู้สึกว่า ใช่เลย เพราะโดยปรกติพนักงานของเอไอเอสไปเป็นจิตอาสาอ่านหนังสือเสียงเพื่อผู้พิการทางสายตาอยู่แล้ว และเชื่อว่า ลูกค้าที่มีอยู่มากกว่า 30 ล้านคนจะให้ความร่วมมือเช่นกัน นอกจากนี้ยังมองว่า ยังเป็นการนำเทคโนโลยีด้านกรสื่อสารมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม จะช่วยให้คนในสังคมไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ และโครงการคือ “Read for the Blind” นี้ถือเป็นอีกโครงการที่ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการสื่อสารเพื่อประโยชน์แก่ผู้พิการทางสายตา ซึ่งทางเอไอเอสจะไม่คิดค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตผู้ใช้ที่อ่านหนังสือเสียงผ่านแอพฯนี้และจะเพิ่มเซิร์ฟเวอร์ให้กับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยด้วยเป็นมูลค่า 1 ล้านบาทด้วย
นายธาตรี ลิขนะพิชิตกุล ผู้จัดการกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคมของเอสซีบี เปิดเผยว่า ทางเอสซีบีก็มีโครงการช่วยเหลือผู้พิการเช่นกัน ส่วนโครงการนี้ได้เชิญชวนทั้งผู้บริหารและพนักงานจิตอาสารของธนาคารในโครงการ “SCB ชวนกันทำดี” และสมาชิกเยาวชนคนรุ่นใหม่ในโครงการ “แบ่งปัน 1 วัน ใน 1 ปี” เข้าร่วมกิจกรรม เชื่อว่า โครงการ “Read for the Blind” จะได้รับการตอบรับที่ดีและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
หลังจากมีพันธมิตรร่วมเจตนารมณ์เดียวกันแล้ว จึงมีทีมงานพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อสร้างหนังสือเสียงขึ้นโดยมีซัมซุงเป็นหัวหอกสำคัญ
นายสิทธิโชค นพชินบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจโทรคมนาคมของซัมซุงฯเปิดเผยว่า ได้เริ่มพัฒนากันในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมรูปแบบ ขั้นตอนการใช้งานก่อนว่าจะทำออกมาในรูปแบบใด ซึ่งต่อมาได้นำแนวคิดจากฟอร์แมตหรือมาตรฐานการอ่านหนังสือให้ผู้พิการฟังบนเครื่องพีซีมาปรับใช้ในการดีไซน์เพื่อให้เป็นแอพฯใช้งานบนสมาร์ทโฟน จนในที่สุดได้แอพฯที่ใช้งานได้ง่ายสำหรับทุกคนออกมา มีขั้นตอนง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนเพื่อใช้สร้างหนังสือเสียงเล่มใหม่และผู้ใช้ยังสามารถเลือกอ่านหนังสือที่ตัวเองชอบได้ด้วย เมื่ออ่านแล้วสามารถแชร์หนังสือที่อ่านให้คนตาบอดฟังทาง facebook หรือ http://www.facebook .com/readfortheblind
แม้ขณะนี้แอพฯทำหนังสือเสียงอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนา แต่ทางผู้พัฒนาได้ปล่อยให้มีการดาวน์โหลดแอพฯฟรีนี้แล้วผ่าน Google Play Store และ App Store นานประมาณ 1 สัปดาห์ หรือจะใช้วิธี เข้าไปที่เวบไซต์กูเกิลแล้วเสิร์ชโดยใส่ชื่อแอพฯลงไปก็ได้ เมื่อดาวน์โหลดมาแล้ว เปิดมาหน้าแรกจะมีขั้นตอนการใช้งานไว้อย่างละเอียด
นายวิชัยเปิดเผยว่า “แอพฯ “Read for the Blind” ได้รับการตอบรับดีมาก จนเวลานี้กล่าวได้ว่า 1 นาที มีการอ่านหนังสือเสียงได้มากถึง 50 เล่มและทำให้เซิร์ฟเวอร์เต็มแล้ว จึงต้องมีการขยายเซอร์เวอร์เพิ่มอีก นอกจากนี้ทางซัมซุงได้มอบลิขสิทธิ์ผลงานแอพฯนี้ให้แก่มูลนิธิคนตาบอดไทยด้วย เพื่อนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต ซัมซุงมั่นใจว่า แอพฯใหม่จะช่วยให้สร้างหนังสือเสียงเพิ่มได้ราว 3,000 เล่ม บทความ 30,000 บทความจากผู้ดาวน์โหลดแอพฯ 2 แสนคนภายใน 1 ปี”
นับว่า โครงการนี้สร้างความปลาบปลื้มแก่นายวิรัช ศรีตุลานนท์ ประธานมูลนิธิคนตาบอดไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งเชื่อว่า เป็นหนทางที่จะช่วยเพิ่มหนังสือเสียงให้เพียงพอ ช่วยให้คนตาบอดได้รู้เหมือนคนปรกติ ทำให้พวกเขามีโอกาสได้พัฒนาความรู้ ศักยภาพในการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพและพึ่งพาตนเองได้ ขณะเดียวกันแอพฯนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์สำหรับคนแก่และคนเจ็บป่วยได้อีกเช่นกัน
ความสำเร็จของโครงการ ทำให้ผู้มีส่วนร่วมทุกคนมีความสุข และแม้จะเป็นก้าวแรกและเป็นก้าวที่เริ่มต้น แต่ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่า ยังต้องพัฒนาต่อไป พร้อมคาดหวังให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้มีผู้เข้ามาดาวน์โหลดแอพฯไปใช้สร้างหนังสือเสียงกันมาก ๆ แล้วแชร์สู่ผู้พิการได้ฟัง เพื่อขยายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันก็ค้นหาต่อไปว่า หนังสือท็อปฮิตคืออะไร หนังสืออะไรที่ผู้พิการอยากฟังมากที่สุดเพื่อให้สอดพ้องกับความต้องการของผู้พิการ ได้รับฟังสิ่งต่าง ๆ เหมือนคนปรกติทั่วไป
ผู้สนใจสามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาใช้กันได้
“ทำแล้วนอกจากผู้พิการได้ฟังหนังสือแล้ว คนอ่านก็มีความสุข” คุณณัฐวุฒิ
“เป็นการทำบุญที่เห็นผลเร็วที่สุด” คุณบี๋-อริยะ
ต้องไม่ลืมว่า “ความมืด” คือ สิ่งเดียวที่ผู้พิการมองเห็น
Let’s give them light By your voice
1 เสียงของคุณ คือ 1 แสงสว่างสำหรับคนตาบอด
ข่าวเด่น