สุขภาพ
ประจำเดือนแบบไหน บ่งบอกภาวะมีบุตรยาก


 

 

"ประจำเดือน" หรือรอบเดือนเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึง มีความสามารถที่จะมีบุตรได้อยู่ ดังนั้นประจำเดือนจึงสามารถเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของผู้หญิงได้อย่างหนึ่ง รวมถึงบอกถึงภาวะมีบุตรยาก   
 
              
 
นพ.ปัญญาศักดิ์สง่าวงษ์สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลเวชธานีได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การที่ผู้หญิงมีประจำเดือนตามปกติได้นั้นต้องอาศัยการทำงานประสานกันระหว่างต่อมใต้สมองส่วนหน้ากับอวัยวะสืบพันธุ์ โดยที่ต่อมใต้สมองจะทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนFSH ให้สูงขึ้น เพื่อมากระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่ และผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนของเพศหญิง
จากเหตุดังกล่าว ภาวะใดก็ตามที่ทำให้ระดับฮอร์โมนFSH เอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายเปลี่ยนไปจากภาวะปกติ เช่น ภาวะไม่ตกไข่เรื้อรัง รังไข่สร้างฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอ เยื่อบุโพรงมดลูกบางหรือหนาผิดปกติ จะส่งผลให้รอบเดือนมาผิดปกติด้วย และบางครั้งอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ในอนาคต
 
  
ดังนั้นประจำเดือนที่ปกติมีลักษณะอย่างไร สามารถสังเกตได้ดังนี้
1.ความถี่ของการมีประจำเดือน ซึ่งปกติควรจมาทุก21-35 วัน จะสามารถตกไข่ด้ตามปกติถึง80% ดังนั้นถ้ามีประจำเดือนถี่หรือห่างกว่านี้ มักจะไม่ตกไข่เรื้อรัง ส่งผลให้ประจำเดือนมาห่างและมีบุตรยาก เนื่องจากไม่มีไข่ไปฏิสนธิกับอสุจิ เช่น ผู้ป่วยPCOS หรือ PCO มักเป็นผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมาก อาจมีอาการของภาวะออร์โมนเพศชายเด่น เช่น สิว หน้ามัน ขนดก เมื่ออัลตร้าซาวน์ดูรังไข่จะพบฟองไข่ใบเล็กๆ จำนวนมากที่ไม่สามารถเจริญเติบโตจนสามารถตกออกมาได้ สะสมอยู่ภายในรังไข่จึงเป็นที่มาของโรค Polycystic Ovarian Syndrome กรณีนี้ผู้ป่วยจะมีประจำเดือนทุก 2-3 เดือน ผนังโพรงมดลูกที่หนาตัวอยู่เป็นเวลานานเพราะไม่มีการตกไข่ เมื่อหลุดลอกออกเป็นประจำเดือนอาจมีเลือดที่มากกว่าคนปกติ หรือมีลักษณะเป็นลิ่มๆ อีกทั้งถ้าผนังโพรงมดลูกหนาตัวนานหลายปี อาจมีโอกาสตรวจพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากขึ้น บางรายอาจมีโรคเบาหวานตามมาในอนาคตด้วย
2.ปริมาณและระยะเวลาของเลือดประจำเดือนที่ออก ปกติแล้วควรมีระยะอยู่ที่ 2-7 วัน และปริมาณที่ออกวัดจากจำนวนผ้าอนามัยที่ใช้ ขนาดปกติไม่เกิน 3-4 ผืนต่อวัน และไม่ควรมีลิ่มเลือดขนาดเกินปลายนิ้วก้อยปนออกมาร่วมด้วยอีกทั้งไม่ควรมีเลือดออกกระปริดกระปรอยหลังจากประจำเดือนหยุดไปแล้ว ทั้งนี้มักทำให้เกิดปัญหาเยื่อบุโพรงมดลูกและเป็นสาเหตุให้มีบุตรยาก เพราะตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวและเจริญเติบโตต่อในโพรงมดลูกที่มีความผิดปกติได้ ยกตัวอย่างเช่น ประจำเดือนออกมาก และมานานกว่าปกติ เช่น เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกซึ่งพบได้บ่อยที่สุด รองลงมาคือเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (PCOS)ประจำเดือนออกน้อย เช่นเยื่อบุโพรงมดลูกบางผิดปกติ ประจำเดือนมากระปริดกระปรอย หรือมีเลือดออกระหว่างรอบเดือน เช่น ติ่งเนื้อที่ปากมดลูก หรอืในโพรงมดลูก       
3.อาการปวดประจำเดือนมีความผิดปกติ เช่น มีอาการปวดท้องน้อยเกือบทุกครั้ง บางรายพบว่ามีอาการปวดหน่วงลงช่องคลอดหรือทวารหนัก ปวดหลัง ที่กิดขึ้นได้ทั้งก่อน-หลัง หรือระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งมักทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้การรักษาตั้งแต่อดีต-ปัจจุบันจะใช้ยาบรรเทาอาการปวด ทั้งยาทานและยาฉีดเพื่อลดอาการปวด ซึ่งปริมาณยาจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจากเดิม บางรายอาจถึงขั้นต้องลางาน หรือนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และอาการเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงมีบุตรยากเช่นกัน 
 
ยกตัวอย่างเช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ที่รังไข่ (ช็อคโกแลตซีสต์) ภาวะนี้มักพบผังผืดที่ช่องท้องร่วมด้วยส่งผลให้ท่อน้ำไข่มีการอุดตัน ไข่และอสุจิจึงไม่สามารถปฏิสนธิกันได้ อีกทั้งรังไข่ที่มีซีสต์แทรกอยู่จะผลิตไข่ได้ลดลง และเป็นไข่ที่ด้อยคุณภาพ เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกสามารถแสดงอาการปวดประจำเดือนได้เช่นกัน บางรายอาการปวดอาจไม่สัมพันธ์กับรอบเดือน อาจมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ท้องน้อยโตขึ้น หรือคลำพบก้อนที่ท้องน้อยก็เป็นได้
 
              
 
จะเห็นว่าแต่การเฝ้าสังเกตและจดบันทึกรูปแบบของประจำเดือน สามารถบ่งบอกถึงความผิดปกติหลายๆ อย่างในร่างกายได้ เป็นวิธีง่ายๆ ที่จะใช้ประเมินความสามารถในการมีบุตรด้วยตัวเอง สำหรับสาวโสดและคู่สมรสที่กำลังวางแผนการมีบุตร เกิดความสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายมีลูกยากหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์และรับการตรวจวินิจฉัย เพื่อเตรียมตัวรับมือให้ทันก่อนสายเกินไป

 


LastUpdate 17/10/2556 19:07:51 โดย : Admin
22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 11:04 pm