บรรยากาศช่วงนี้ตัวเลขหนี้ภาครัวเรือนกลับมาเป็นที่สนใจของผู้คนและที่เป็นประเด็นคือตัวเลขได้ส่งสัญญาณไปยังธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อ และธุรกิจต่างๆ เพราะเหตุว่า
1. นับจากโครงการรถยนต์คันแรกได้ปิดโครงการเมื่อไม่นานมานี้ มีการเปิดเผยตัวเลขการทิ้งใบจองรถยนต์ 1.3 แสนคันที่ยังไม่มาติดต่อรับรถยนต์
2. มีการออกมาให้ข่าวสารว่าลูกค้าที่ผ่อนชำระสินเชื่อรถยนต์อยู่นั้นเริ่มมีอาการผ่อนติดขัด ผ่อนแบบฟันหลอ ผ่อนงวดค้างงวดอะไรประมาณนี้ แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (ตามหลักหนี้เสีย หมายถึงบัญชีสินเชื่อนั้นค้างชำระเกิน 3 งวดติดกัน) มีจำนวนเพิ่มมาก นักการเงินเรียกหนี้กลุ่มนี้ว่า "กลุ่มหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ" ตัวเลขที่เพิ่มคือในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นเป็น 6.85% จากตัวเลข 6.03%
3. ใครต่อใครก็บอกว่ากำลังซื้อของประชาชนลดลง ขณะที่ค่าครองชีพดูเหมือนจะเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ก็จะส่งผลให้ยอดการใช้จ่ายลดลง ตัวเลขนี้สะท้อนในเรื่องของการบริโภคภาคเอกชนที่ดูเหมือนจะฟ้องว่าชะลอตัวลงมาอย่างชัดเจน
4. มีการจับตาพฤติกรรมลูกหนี้บัตรเครดิตอย่างละเอียด เพื่อป้องกันแต่ต้นมือ (ตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้เกิดหนี้เสีย) โดยเริ่มจากการติดตามทวงหนี้แบบเข้มงวด หากพบว่าลูกค้าเริ่มค้างค่างวดหลังครบกำหนดชำระ จะไม่รอและจะเริ่มตามทวงได้เลย สะท้อนจากคำพูดที่ว่า
"....ยอมรับว่าช่วงนี้ต้องมอนิเตอร์พฤติกรรมการใช้จ่ายของลูกค้าอย่างละเอียด รวมถึงการใช้จ่ายแบบผิดปกติ โดยเฉพาะเจ้าของบัตรเครดิตที่มีบัตรหลายใบ แต่ไม่ค่อยใช้จ่าย...ภาพการใช้บัตรเครดิตเพื่อนำมาชำระหนี้ ผ่อนค่างวดรถ ค่างวดบ้าน ก็เริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และอัตราการค้างค่างวดเริ่มปรากฏแนวโน้มที่จะเกิดการเบี้ยวหนี้เพิ่มขึ้นชัดเจนขึ้น"
และจะเห็นได้ว่าการติดตามหนี้ไม่รุนแรง เพราะมีร่าง-กฎหมายติดตามทวงหนี้ และมีระเบียบแนวทางการปฏิบัติของแบงก์ชาติที่ค่อนข้างเข้มงวดออกมาเพื่อรักษาสิทธิและให้ความคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้นในวันแรกหากไม่มีการชำระเมื่อครบกำหนด ก็ต้องติดตามทวงหนี้ ทั้งการส่ง SMS การโทรศัพท์ไปหาไปตาม จนถึงออกจดหมายติดตามโดยไม่ต้องรอนานถึง 30 วันนับจากลูกค้าเริ่มค้างชำระเหมือนในอดีต เพียงแค่ 1 วัน หลังมีการค้างชำระก็สามารถติดตามทวงถามได้แล้ว...พูดง่ายๆ คือ ไม่รอแล้ว
5. ปัจจัยภายในที่เริ่มจากตัวลูกค้ามีพฤติกรรมการใช้จ่ายเป็นอย่างไร เกินตัวหรือไม่ ฝืนที่จะยังใช้จ่ายแม้ว่ามีปัญหาหรือไม่ ขาดส่งหรือค้างชำระหรือไม่ การที่เจ้าหนี้เข้าไปถามไถ่ลูกค้าถึงสาเหตุของการค้างชำระ คำตอบที่พบกันมากคือหมุนไม่ทัน ลืม หรือเพราะรอรอบเงินเดือนออกฝั่งของคนให้กู้จึงมุ่งไปที่การติดตามลูกค้าตลอดเวลา เพื่อวิเคราะห์ออกมาให้ได้ว่าลูกค้ามีความเสี่ยงหรือไม่ และเสี่ยงในระดับใด เรื่องสำคัญก็คือ การวางแผนธุรกิจ การกำหนดกระบวนการ เทคโนโลยี คน และกฎระเบียบต่างๆ เข้าด้วยกัน รวมถึงการลดค่าติดตามทวงถามลง จากที่เคยคิดในอัตรา 250 บาทต่อรายต่อครั้ง ต่อไปก็อาจพิจารณาปรับลดลง 10%
6. ผู้บริหารบริษัทบัตรเครดิตรายหนึ่งระบุว่า ระยะนี้ทางฝั่งคนที่ให้กู้เริ่มเห็นถึงความต้องการวงเงินของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ การอนุมัติการขอเพิ่มวงเงินอยู่ที่ 80% ของความต้องการที่ขอเข้ามา ขณะที่อัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 30-40% เพราะเข้มงวดกับการคัดเลือกลูกค้ามากขึ้น โดยจะโฟกัสไปที่การวิเคราะห์ความเพียงพอของเงินเดือนประจำเป็นหลัก การขอเพิ่มวงเงินก็อาจมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และราคาสินค้าที่ขยับตัวสูงขึ้น ตรงกันข้ามกับรายได้ของผู้บริโภคที่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นเลย ทำให้ในการพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นวงเงินแต่ละครั้ง ก็จะต้องพิจารณาจากเหตุผลในการใช้วงเงิน และคุณสมบัติของลูกค้าแต่ละรายเป็นหลักในการอนุมัติสินเชื่อ
ในบรรยากาศแบบนี้ การรักษาประวัติ การไม่ก่อหนี้โดยไม่มีเหตุผล การไม่จัดสรรจัดการรายได้-รายจ่ายของครอบครัว จะนำมาซึ่งความเสี่ยงมากๆ ในการก้าวเข้าไปสู่กับดักการเป็นหนี้ และกลายเป็นคนผิดสัญญาเงินกู้ไปทันที
สุรพล โอภาสเสถียร
ผูจัดการใหญ่
บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
ข่าวเด่น