ผู้ว่าการธปท.แจงสถานการณ์สหรัฐฯและการเมืองในประเทศเริ่มมีปฏิกิริยาต่อตลาดการเงิน ชี้เป็นเรื่องปกติที่จะมีความกังวล ด้านอัตราแลกเปลี่ยนยังอยู่ในกรอบแคบไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่ง ยันสภาพคล่องไม่ใช่ประเด็นน่ากังวล
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ และการเมืองในประเทศ โดยระบุว่า ขณะนี้ตลาดเงินเริ่มแสดงปฏิกิริยาต่อปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และปัญหาการเมืองในประเทศให้เห็นบ้างแล้ว ทั้งในแง่ของความคึกคักในตลาดหุ้นและเงินทุนไหลเข้าที่มีการรีรอไปบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นจากความกังวลในประเด็นดังกล่าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารความขัดแย้งว่าจะทำได้ดีมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ สำหรับในส่วนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ปัจจุบันค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบ โดยในแต่ละวันเงินทุนทั้งทางฟากขาย และซื้อ ของทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติไม่ได้ต่างกันมาก ซึ่งสะท้อนหรือแสดงให้เห็นถึงการซื้อและขายที่ไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่งหรือทางใดทางหนึ่ง
"ต้องเรียนว่าปัญหาเรื่องการเมืองนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเราจะเห็นได้จากการทดสอบการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศเป็นระยะ ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของการเมืองที่ทดสอบกำลังกัน อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอย่างใกล้ชิด"
สำหรับประเด็นเรื่องของความกังวลต่อสภาพคล่องในประเทศกรณีที่มีเงินไหลออกหากสหรัฐฯ ชะลอ หรือยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงนโยบาย หรือคิวอี (QE) ขณะที่รัฐบาลกำลังต้องการกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น ขณะนี้สภาพคล่องในประเทศไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่น่ากังวลแต่อย่างใด ไม่ว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการคิวอีหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ เงินดอลลาร์ที่ไหลเข้ามามากในช่วง 5-6 ปี และบางเวลา ธปท.ก็เก็บรักษาไว้ ซึ่งจะเห็นได้จากทุนสำรองทางการเงินระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง ดังนั้น หากมีเงินไหลออกก็ไม่เป็นอุปสรรค เพียงแต่ตอนที่เงินเข้ามาเป็นการทยอยเข้ามา แต่ถ้าเงินไหลออกเร็ว ก็ต้องใช้ความสามารถในการบริหารจัดการไม่ให้เกิดความผันผวน เพราะฉะนั้นเรื่องปริมาณคงไม่ใช่ปัญหา
“สภาพคล่องในขณะนี้ยังสามารถบริหารจัดการได้ดี โดยเมื่อสิ้นวันธนาคารพาณิชย์นำเงินเข้ามาลงทุนข้ามคืนวันละ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งแสดงว่ายังมีเงินเพียงพอ และหากรวมเงินส่วนอื่นที่ไม่ใช่โอเวอร์ไนท์ จะมีสภาพคล่องส่วนเกินสูงถึง 4.4 ล้านล้านบาท ส่วนโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น ปีที่จะมีการลงทุนสูงมากน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งเท่ากับปริมาณขาดดุลการคลังในแต่ละปี ถือว่าไม่มากเกินไปจนรับไม่ได้”
ข่าวเด่น