แม้รัฐบาลออกมายืนยันว่า ยังไม่มีนโยบายปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงจากการปรับโครงสร้างภาษีในช่วงที่ผ่านมา โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ปฏิเสธกระแสข่าวที่ส.ส.ฝ่ายค้าน ออกมาระบุว่า รัฐบาลเตรียมจะปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)เป็น 10% จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% เพื่อหวังหารายได้เพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาท โดยนายกิตติรัตน์ ชี้แจงว่า รัฐบาลไม่มีแผนดังกล่าว และเรื่องนี้เป็นเรื่องโกหก แต่ดูเหมือนว่า อนาคตคงจะหนีไม่พ้นรัฐ”ขึ้นภาษี”ชดเชยรายได้
ก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.การคลังและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Korn Chatikavanij กรณีที่กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอรัฐบาลขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหวังเก็บภาษีเพิ่มอีก 5 หมื่นล้านบาท พร้อมปัดฝุ่นกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า กระทรวงการคลังออกมาพูด 2 เรื่องสำคัญ
เรื่องแรกคือ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10%
เรื่องที่ 2 คือ การออกใบอนุญาตให้นิติบุคคลปล่อยสินเชื่อรายย่อยได้ “เพื่อทดแทนการกู้นอกระบบ”
ขณะที่นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2556 นโยบายการคลังและการลงทุนภาครัฐ ผลต่อการพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศโดยยอมรับว่า กระทรวงการคลังต้องปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบเพื่อรองรับรายจ่ายของประเทศที่เพิ่มมากขึ้น
หลังจากที่ผ่านมาการปรับโครงสร้างภาษีดำเนินการไปแล้วหลายตัว อาทิ การลดภาษีนิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งส่งผลให้การเก็บภาษีจากฐานรายได้ของประเทศในอนาคตลดน้อยลง
สำหรับภาษีที่เก็บเพิ่มขึ้นต้องมาจากฐานการใช้จ่าย ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และภาษีสรรพสามิต โดยปัจจุบันเก็บแวตที่อัตรา 7% จากเพดานที่กำหนดไว้ 10% ซึ่งการเพิ่มขึ้นทุก 1% จะทำให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้านบาท แต่การขึ้นแวตต้องทำในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี คาดว่า เวลาที่เหมาะสมในการขึ้นแวตน่าจะเป็นช่วง 3-4 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ การปฏิรูประบบภาษีใหม่ยังต้องเพิ่มการเก็บภาษีจากการสะสมความมั่งคั่งของชนชั้นกลางและผู้มีรายได้สูง ผ่านการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เห็นชอบแล้ว แต่ให้เน้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่มีการซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างกฎหมาย คาดว่าจะชัดเจนในปลายปีนี้
สำหรับภาษีที่ดินว่างเปล่านั้น เดิมเคยเสนอให้จัดเก็บในอัตรา 0.5% ของมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งมีข้อท้วงติงว่าต่ำเกินไป ฉะนั้น คงต้องปรับให้สูงกว่านี้ ส่วนนิยามของคำว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์บนที่ดิน ไม่ต่ำกว่า 50% ของพื้นที่
คงต้องยอมรับว่า แนวทางการปรับเพิ่มอัตราภาษี เป็นแนวทางที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในขณะที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณในโครงการต่างๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นคงหนีไม่พ้นที่รัฐบาลจะต้องการจัดเก็บอัตราภาษีเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นปีหน้าหรือช่วง 3-4 ปีข้างหน้า
ข่าวเด่น