ผู้บริหาร พนักงาน และนักศึกษา ฝึกงานสำนักงานกฎหมายสากลสยามพรีเมียร์ พร้อมกลุ่มอาสายุวกาชาด ร่วม 20 ชีวิตทำกิจกรรมมอบสื่อสำคัญทางการศึกษา คือ หนังสือให้กับน้องๆผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ณ สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ จำนวนประมาณ 100คน
ผู้บริหาร พนักงาน และนักศึกษา ฝึกงานของ บริษัท สำนักงานกฎหมายสากลสยามพรีเมียร์ จำกัด ได้ร่วมทำกิจกรรมและมอบสื่อสำคัญทางการศึกษา คือ หนังสือหลากประเภท ให้กับน้องๆผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ณ สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เมื่อวันเสาร์(26ต.ค.) รวมทั้งเล่น ร้องเพลง พร้อมอาหารว่างและไอศกรีม สร้างความสุขให้กับน้องๆประมาณ 100 ชีวิต โดยมีกลุ่มอาสายุวกาชาดมาร่วมกิจกรรมด้วย รวมผู้ทำกิจกรรมทั้งสิ้นราว 20 ชีวิต
สถานสงเคราะห์เด็กชายฯแห่งนี้มีประวัติความเป็นมามายาวนาน เริ่มจากกรมประชาสงเคราะห์ (เดิม) ได้เริ่มดำเนินงานบริการสงเคราะห์เด็กมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2484 โดยอาศัยอำนาจและหน้าที่ พ.ร.บ. ควบคุมเด็กและนักเรียน พ.ศ. 2481 สถานสงเคราะห์แห่งเดียวในขณะนั้น คือโรงเรียนประชาสงเคราะห์ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีได้รับเด็กไว้ในความอุปการะหลายประเภท มีทั้งเด็กกำพร้า อนาถา เร่ร่อน ไร้ที่พึ่ง (ตกอยู่ในสภาพขาดที่พึ่ง) เนื่องจากปัญหาความเดือนร้อนในครอบครัว เช่นหัวหน้าครอบครัวต้องโทษคุมขัง วิกลจริต เจ็บป่วยเรื้อรังฐานะยากจนขัดสนหรือพิการทางร่างกาย จนหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวไม่ได้ เป็นต้นตลอดจนเด็กที่ประพฤติตนไม่สมควรแก่วัย เช่น หลบหนีการเรียน กระทำตนเป็นที่รบกวนหรือก่อความเดือดร้อน หรือโน้มเอียงไปในทางที่จะกระทำผิด
ดังนั้นเพื่อให้การสงเคราะห์อุปการะเด็กเป็นไปโดยความเหมาะสมตามลักษณะเด็กแต่ละประเภทกรมประชาสงเคราะห์ จึงได้พิจารณาจัดตั้งสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านมหาเมฆแยกออกจากโรงเรียนประชาสงเคราะห์ปากเกร็ดเพื่อให้เป็นสถานสงเคราะห์สำหรับเด็กที่กำพร้า อนาถา ไร้ที่พึ่ง แต่มีความประพฤติดีมีความมานะพยายามบากบั่นในการเรียน และมีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะสถานสงเคราะห์แห่งนี้ ได้รับเงินงบประมาณให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497 และเริ่มดำเนินการรับเด็กเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2497 เป็นต้นมา
นายพิสุจธิ์ เดชะ ไกศยะ กรรมการผู้จัดการสำนักงานกฎหมายสากลสยามพรีเมียร์ จำกัด เปิดเผยว่า เพิ่งเริ่มจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคมนี้เป็นปีที่ 2 โดยก่อนหน้าจัดขึ้นช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จัดที่บ้านสงเคราะห์คนพิการซ้ำซ้อนบางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์ผู้หญิง ส่วนสถานสงเคราะห์ฯที่นี่เป็นเด็กผู้ชาย
นายพิสุจธิ์กล่าวต่อว่า เป้าหมายของการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมนี้มีขึ้นเพื่อให้นักศึกษาฝึกงานด้านกฎหมายหรือเป็นทนายความได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน คิดร่วมกันว่าจะบริหารจัดการอย่างไร เรียนรู้การทำงานร่วมกัน เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันบุคลากรภายในองค์กร ทำให้เกิดความรักและความสามัคคีในหมู่คณะ ขณะเดียวกันยังมุ่งส่งเสริมให้มีจิตใจ เมตตากรุณา มีคุณธรรมเพื่อนำวิชาชีพกฎหมายไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักศึกษาวิชากฎหมายมาฝึกงานรวม 4 เดือน 2 รุ่น ๆ ละ 2 เดือน รวมประมาณ 20 คน
“ปัญหาเด็กด้อยโอกาสมีทุกประเทศ เราต้องดูแลพวกเขา ให้ด้านการศึกษา ให้ความรู้ ความอบอุ่นตามสมควร จึงอยากให้ภาครัฐเน้นงบประมาณด้านการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาสมาก ๆ “
ทางด้านเด็ก ๆ จะได้ประโยชน์ในแง่ของขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิตในสังคมในภายภาคหน้า นอกจากนี้กิจกรรมนี้ยังเพื่อเสริมสร้างนิสัยรักการอ่านและส่งเสริมพัฒนาการความรู้ ให้กับน้องๆผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งชี้ให้เห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือ
นายฮิโรมิ โคยาม่า นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มาฝึกงานเปิดเผยว่า มาอยู่เมืองไทย 9 ปีแล้ว แต่มาทำงานก่อนที่บริษัทแห่งหนึ่ง ก่อนมาศึกษาต่อปริญญาโทและมาฝึกงานกับทางสำนักงานกฎหมายเป็นเวลา 3 สัปดาห์ สำหรับการมาร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมนี้นับเป็นครั้งแรก ทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เดิมสงสัยว่า มาทำจะมีประโยชน์อะไรบ้าง แต่ทำแล้วรู้สึกดี ดีใจที่เห็นเด็ก ๆ เล่นกันสนุกสนาน ทุกบริษัทนาจะมีกิจกรรมแบบนี้
ข่าวเด่น